ศ.ดร.นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB - Center of Calcium and Bone Research) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.นพ. ณัฐพล ภาณุพินธุ หัวหน้าหน่วยสัตว์ทดลอง งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในขณะที่ PM2.5 ปกคลุมโลก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาวะที่คุกคามต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงความเสี่ยงกระดูกพรุนจากภาวะอักเสบทั่วร่างกาย ที่ค้นพบจากการวิจัยในหนูทดลอง โดย หน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB - Center of Calcium and Bone Research) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยคุณภาพจากภาควิชาสรีรวิทยา ที่ร่วมศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยห่างไกลโรคกระดูกพรุนกันมาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยาวนาน
ศ.ดร.นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าหน่วยวิจัย COCAB ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.นพ. ณัฐพล ภาณุพินธุ หัวหน้าหน่วยสัตว์ทดลอง งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยจนค้นพบว่า PM2.5 เสี่ยงกระดูกพรุนจากภาวะอักเสบในหนูทดลอง
ภายใต้ข้อสันนิษฐานถึงกลไกการเกิดโรคกระดูกพรุนจากการเสื่อมสลายของมวลกระดูก มีสาเหตุสำคัญจากการอักเสบ เนื่องจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันต้องต่อสู้กับฝุ่น PM2.5 ที่รับเข้ามาทางปอดและกระจายไปทั่วร่างกาย ไปเร่งให้เกิดกระบวนการอักเสบดังกล่าว ซึ่งจากการติดตามในหนูทดลองที่ได้รับฝุ่น PM2.5 พบการเพิ่มจำนวนขึ้นของเซลล์สลายกระดูก ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีต้นกำเนิดจากเม็ดเลือดขาวบางชนิด มีส่วนสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังคุกคามสุขภาวะมนุษย์มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่โล่งที่มีการเผา ตัวฝุ่นอาจประกอบด้วยอนุภาคของสารเคมีหลากหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงเข้าสู่ร่างกายทางปอด แต่ยังสามารถผ่านเข้าทางผิวหนัง และทางเดินอาหารได้ องค์ประกอบหลายชนิดในฝุ่นยังอาจทำให้โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคปอด โรคทางเมแทบอลิซึม รุนแรงมากยิ่งขึ้น
การค้นพบอันตรายของฝุ่น PM2.5 ต่อกระดูกกำลังอยู่ระหว่างการเสนอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อขยายผลต่อยอดสู่การค้นหาแนวทางป้องกันและรักษา เพื่อลดความเสี่ยงกระดูกพรุน และอาการอักเสบรุนแรง จากวิกฤต PM2.5 ที่โลกกำลังเผชิญ เพื่อเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มการเฝ้าระวังต่อไป