มะเร็งกล่องเสียง

 มะเร็งกล่องเสียง พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ด้วยอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเป็น 10 ต่อ 1 โดยจะพบบ่อยในผู้สูงอายุ  อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยประมาณ 50-65 ปี

โครงสร้างของกล่องเสียง
กล่องเสียงแบ่งย่อยเป็น 3 ส่วน คือ Vestibule, Ventricle และ Infraglottic cavity มี ventricular และ vocal folds เป็นขอบเขตส่วนบนและล่างของ ventricle
โดยทั่วไปกล่องเสียงดาดด้วย Respiratory epithelium ยกเว้น ventricular fold ที่ดาดด้วย Stratified squamous non-keratinized epithelium
ผนังกล่องเสียงพยุงด้วยกระดูกอ่อนชนิด Extrinsic และ Intrinsic muscles และบรรจุต่อมมีท่อชนิดหลั่งและสร้าง mucous และ seromucous secretion ออกมา


ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง
พบว่าสาเหตุสำคัญที่บ่งชี้ได้ชัดเจน คือ การสูบบุหรี่จัด และการดื่มสุราเป็นประจำ
อาการแสดง
• เสียงแหบเรื้อรัง
• กลืนอาหารลำบาก สำลัก
• มีเสมหะปนเลือด
• หายใจขัด ลำบาก
• มีก้อนโตที่คอ
• เจ็บคอเรื้อรัง มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ
ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเสียงแหบ โดยมักไม่มีอาการเจ็บคอ ซึ่งหากรอยโรคอยู่ที่ตำแหน่งของสายเสียงจะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ทำให้รักษาหายขาดได้ แต่หากเป็นตำแหน่งอื่นของกล่องเสียง อาการเสียงแหบมักจะแสดงออกในระยะที่ลุกลามแล้ว และบางครั้งอาจมีอาการกลืนลำบากร่วมด้วย


การวินิจฉัย
1. การใช้กระจกส่องลงไปตรวจที่กล่องเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอกบริเวณกล่องเสียงหรือไม่
2. การส่องกล้อง และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิสภาพ
3. การตรวจเลือด
4. การเอกซเรย์
5. การตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษามะเร็งกล่องเสียง
ในระยะเริ่มแรก จะใช้การฉายรังสีเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกับการผ่าตัด แต่ยังสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ
ในระยะลุกลาม จะใช้การรักษาร่วมระหว่างการผ่าตัดและฉายรังสี
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรงของโรค ระยะดำเนินโรคของมะเร็ง และการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาวะผู้ป่วย เป็นต้น


ข้อควรปฏิบัติและป้องกันมะเร็งกล่องเสียง
• งดเว้นการดื่มสุราและสูบบุหรี่
• รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อย่าปล่อยให้เป็นหวัดหรือเจ็บคอเรื้อรังเป็นประจำ
• ถ้ามีอาการเจ็บคอเรื้อรัง รู้สึกเหมือนมีก้างปลาติดคออยู่เกือบตลอดเวลา หรือมีเสียงแหบ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
• เมื่อมีอาการเสียงแหบเกินกว่า 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อาการไอ และเจ็บคอ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับหู คอ จมูก หรือแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคมะเร็ง เพื่อส่องตรวจดูในคอบริเวณกล่องเสียง ไม่ใช่เพียงการตรวจคอตามปกติ

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :www.siamca.com