ภาวะโลกร้อน…ซ่อนโรคร้าย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Facultyof Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาล ม.มหิดล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนถึงมหันตภัยปรากฏการณ์ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หลายคนยังฟังเพียงผ่าน ๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ...แต่ยิ่งนานวันผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อนก็ยิ่งพ่นพิษรุนแรงและลุกลามเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ ภัยจากธรรมชาตินานัปการ และโรคภัยไข้เจ็บที่ลุกลาม เป็นต้น


ภาวะโลกร้อน เกิดจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมทั้งก๊าซชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นผ้าห่มหนา ๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ หรือมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการใช้น้ำมัน การปล่อยสารพิษ สารเคมี การตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น นอกจากสภาวะอากาศที่นับวันจะแย่ลงเรื่อย ๆ แล้ว ทราบหรือไม่ว่าเมื่อเกิดสภาวะโลกร้อน สุขภาพร่างกายของเราก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งโรคยอดฮิตติดอันดับ คือ โรคอหิวาตก โรคไข้เลือดออก และอาหารเป็นพิษ เรามาทำความรู้จักกับเจ้า 3 โรคนี้กันนะครับ
1. อหิวาตกโรค
เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ สีซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุ
เกิดจากการที่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว และมีการปนเปื้อนของเชื้อ
ระยะฟักตัว
1. ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน
2. กรณีไม่รุนแรง อาการจะหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
3. กรณีอาการรุนแรง อาการระยะแรก มีท้องเดิน มีเนื้ออุจจาระมาก ต่อมามีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว เพราะว่ามีมูกมาก กลิ่นเหม็นคาว ถ่ายอุจจาระได้โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งไหลพุ่งออกมาโดยไม่รู้สึกตัว อาเจียนโดยไม่รู้สึกคลื่นไส้ อุจจาระออกมากถึง 1 ลิตรต่อชั่วโมง และจะหยุดเองใน 1 - 6 วัน หากได้น้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าได้น้ำและ เกลือแร่ทดแทนไม่ทันกับที่เสียไป จะมีอาการขาดน้ำอย่างมาก ลุกนั่งไม่ไหว ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย อาจมีอาการเป็นลม หน้ามืด จนถึงช็อก ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
- งดอาหารรสจัด เผ็ดร้อน หรือของหมักดอง
- ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหารชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
- ดื่มน้ำเกลือผงสลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็ก ควรปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน
การป้องกัน
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหาร ควรล้างสะอาดทุกครั้งก่อนใช้
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าส้วม
- ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะ และสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
- ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค


 

2. โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย Aedes aegypti ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูงจากเชื้อไวรัสแดงกี โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวัน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก
อาการแรกเริ่ม จะรู้สึกว่ามีไข้สูงเฉียบพลันถึง 38 - 40 องศาเซลเซียส อยู่ 2 - 7 วัน บางรายจะมีจุดเลือดสีแดง ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและหลัง หรือปวดหัวพร้อม ๆ กันกับไข้สูง อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำ บางรายอาจมีอาการช็อก ซึม ตัวเย็นจนถึงอาการหนักมากไม่รู้สึกตัว หมดสติ และถึงกับเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา
- เมื่อเริ่มเป็นไข้เลือดออก มีอาการไข้สูง ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล
* ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน เพราะแอสไพรินจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
- ถ้ามีอาการเพลียให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
- หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
วิธีป้องกัน
- ระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน ซึ่งป้องกันได้ด้วยการนอนในมุ้ง
- ช่วยกันกำจัดลูกน้ำ และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง
- ในภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ ควรใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุก 1 - 2 เดือน สำหรับตุ่มน้ำที่ไม่ค่อยได้เปิดบ่อย ๆ ควรปิดด้วยตาข่ายผ้าหรือไนล่อน 2 ชั้น
- เก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ฝัง เผา หรือดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์
“โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ายุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ที่เคยออกหากินเฉพาะแต่ในเวลากลางวันได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกัน หรือวินิจฉัยโรค”
3. โรคอาหารเป็นพิษ
มีสาเหตุสำคัญจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นหมายถึงจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเร็วตามไปด้วย และยิ่งถ้าหากเชื้อแบคทีเรียอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตสารพิษได้อย่างรวดเร็วจนมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดอาการป่วย เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ บางรายอาจมีอาการลำไส้อักเสบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมาด้วย

อาหารที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษในประเทศไทย
- อาหารทะเลปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารทะเลซึ่งรับประทานโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก (โดยเฉพาะที่บีบมะนาวใส่ โดยที่เข้าใจว่าอาหารเหล่านี้สุกเพราะสีของเนื้อ เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเหมือนเนื้อที่สุกแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด)
- อาหารประเภทปรุงเสร็จแล้ว ไม่มีการผ่านความร้อนก่อนบริโภค เช่น อาหารยำ ส้มตำ สลัด น้ำราดหน้าชนิดต่าง ๆ
- อาหารเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ซาลาเปาไส้ต่าง ๆ ถ้าจะเก็บไว้รับประทานในมื้อต่อ ๆ ไปควรเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมารับประทานต้องอุ่นให้ร้อนจัดอีกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ยังเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์
แต่ถ้ามีอาการท้องเสียมาก ๆ ร่างกายจะเกิดอาการขาดน้ำ และเกลือแร่ บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตก็ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษได้ แต่ถ้าพิษนั้นเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด จะมีผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
เมื่อเป็นแล้วควรทำอย่างไร
รักษาแบบอาการท้องเดินทั่ว ๆ ไป เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาการท้องเดินมักหายได้เองภายใน 1- 2 วัน ถ้าท้องเสียหรืออาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาท (เช่น ชัก หมดสติ) หรือสงสัยว่าจะเกิดจากยาฆ่าแมลงหรือสารพิษอื่น ๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ข้อสำคัญ
อย่ารับประทานยาแก้ท้องเดินเอง เพราะอาการท้องเดินส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ขอให้เข้าใจว่าการขับถ่ายเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกจากร่างกายอยู่แล้ว
5 วิธีง่าย ๆ รับมืออาหารเป็นพิษ
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงและรับประทานอาหาร
- ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือขนมค้างคืนที่ผสมกะทิ
- ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำไหล (ควรแช่ด่างทับทิมทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง)
- ไม่ควรทิ้งเนื้อสด ๆ ไว้นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อน จะเร่งให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ขอฝากทิ้งท้ายถึงทุกคนว่า “ภาวะโลกร้อน” แม้จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์” คือตัวแปรที่สำคัญ มาช่วยกันรักษาสมดุลธรรมชาติ เริ่มที่ตัวคุณและถ่ายทอดไปยังบุตรหลาน และสมาชิกในครอบครัว เพียงเท่านี้ก็ช่วยโลกให้น่าอยู่แล้วครับ

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=686