รู้ทันโรคไตไว้ก่อน

โรคไต คือภาวะไตเสื่อมหรือไตสามารถทำงานได้น้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้มีความผิดปกติในการกำจัดสารพิษหรือของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกาย หากอาการของโรคไตรุนแรงขึ้น อาจจะทำให้ไตเสื่อมจนเกิดภาวะไตวายขึ้นได้ เมื่อไตไม่สามารถใช้งานได้เป็นปกติ จะต้องใช้วิธีการฟอกไตเพื่อช่วยกรองและกำจัดของเสียที่อยู่ในเลือดออกไป และถึงแม้ว่าการฟอกไตจะไม่ได้เป็นการช่วยรักษาโรคไตได้ แต่ก็สามารถช่วยยืดอายุของผู้ป่วยและรักษาระบบอื่น ๆ ของร่างกายเอาไว้ได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต
หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต ว่าเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไปเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเสื่อมของไตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลัก ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไตวายเรื้อรังบ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ถ่ายทอดมาจากกรรมพันธุ์ โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อยมาแสดงอาการในภายหลังก็เป็นได้ การรับประทานอาหารรสจัดที่ไม่ใช่เพียงแค่รสเค็มอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงรสหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยก็เสี่ยงโรคไตด้วยเช่นกัน การดื่มน้ำต่อวันน้อยเกินไป การไม่ออกกำลังกาย รวมถึงมีความเครียดมากเกินไป


โรคที่เกี่ยวข้องกับไตนั้นมีแยกย่อยออกมาหลายโรค แต่โรคที่สามารถพบได้บ่อย ๆ ได้แก่
- โรคไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายและไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ โรคไตเรื้อรังมักเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน เนื่องจากเป็นโรคที่สร้างภาระให้กับไตอย่างมากจนไตเสื่อม
- โรคไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เกิดภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ภาวะไตวายเฉียบพลันมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากทำการรักษาได้เร็วทันที ไตก็อาจสามารถกลับฟื้นคืนเป็นปกติได้เช่นกัน
- โรคนิ่วในไต เกิดจากร่างกายไม่สามารถขับเกลือและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มากเกินไปออกมาทางปัสสาวะได้ จึงตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว และมักไปอุดตันตามที่ต่าง ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ไตทำงานผิดปกติจนนำไปสู่ภาวะไตวายได้
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังไตได้ และโรคกรวยไตอักเสบที่เกิดการอักเสบขึ้นบนส่วนต่อระหว่างไตกับท่อไต หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้ไตเสื่อมจนนำไปสู่ภาวะไตวายได้


สัญญาณเตือนของโรคไต
1. ปัสสาวะเป็นเลือด มีกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยขึ้นในช่วงกลางคืน
2. ปวดหลัง ปวดบั้นเอวบริเวณชายโครงด้านหลัง
3. ตัวบวม เพราะร่างกายไม่สามารถขับน้ำและเกลือออกไปได้
4. ผิวซีดและมีอาการคันเรื้อรัง มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวแตก เป็นแผลหายช้า
5. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
6. ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
7. มีอาการเบื่ออาหาร


ดังนั้น ควรดูแลตัวเองอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่ดีกับสุขภาพ อาการที่รสไม่จัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด ไม่กลั่นปัสสาวะ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากมีสัญญาณเตือนของโรคไต ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดและทำการรักษาได้ทันที

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :  https://www.ratchasima-hospital.com/th/knowledges/warning-symptoms-of-kidney-disease