เครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (NCCN) สุ่มสำรวจสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่ให้การรักษามะเร็งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และพบว่าเกือบ 90% ประสบปัญหาขาดแคลนยารักษามะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อการทดลองทางคลินิก
จากการสุ่มสำรวจศูนย์รักษามะเร็งขนาดใหญ่ 28 แห่ง ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 11 มิถุนายน ปีนี้(ค.ศ.2024) NCCN พบว่า 89% ของศูนย์มะเร็งเหล่านั้นขาดแคลนยารักษามะเร็ง โดยส่วนใหญ่เป็นยา vinblastine (57%) etoposide (46%) topotecan (43%) carboplatin (11%) และ cisplatin (7%) แต่ศูนย์มะเร็งมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้รับการสำรวจยังคงสามารถรักษาผู้ป่วยทั้งหมดได้ตามขนาดโดสและกำหนดเวลาที่กำหนด โดยอาศัยกลยุทธ์ควบคุมการจัดการยาที่มีราคาสูงและใช้ยาในสต็อกอย่างคุ้มค่าที่สุด แต่ปัญหาขาดแคลนยารักษามะเร็งกลับส่งผลกระทบต่อการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (clinical trials) อย่างหนัก ทำให้ต้องลดขนาดของการทดลองแบบเปิดลง
NCCN จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ หาทางแก้ปัญหายารักษามะเร็งอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เช่น การลดหย่อนภาษี หรือให้เงินอุดหนุนการผลิตสำหรับผู้ผลิตยา ดร. แคโรลิน เฮนดริกส์ สมาชิกคณะกรรมการ American Society of Clinical Oncology (ASCO) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายงานของ NCCN กล่าวว่า ศูนย์มะเร็งขนาดเล็กในระดับชุมชนก็ประสบปัญหาขาดแคลนยารักษามะเร็งเช่นเดียวกับศูนย์รักษามะเร็งขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มที่ปัญหาจะยืดเยื้อต่อไป ตราบใดที่กลไกตลาดยายังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม รวมทั้งบรรดายารักษามะเร็งชื่อดังที่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดยาสามัญ เพื่อให้ราคาลดลงและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยด้วย