วิธีการบำบัดอาการปวดเรื้อรังของอวัยวะภายในของร่างกายอาจจะได้รับการปฏิวัติในเร็วๆ นี้หลังจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาพบว่าวิวัฒนาการและระบบการทำงานของสารโปรตีน TRPM8 ที่อาจจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการหาวิธีบำบัดรูปแบบใหม่
ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเรื้อรังและการรักษาที่มีอยู่จำนวนมากต้องอาศัยฝิ่นซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดและการใช้ยาเกินขนาด การพัฒนาทางเลือกในการบรรเทาอาการปวดโดยไม่ทำให้เสพติดอาจเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการความเจ็บปวดได้ การวิจัยล่าสุดที่มุ่งเน้นไปที่โปรตีนของมนุษย์ที่ควบคุมความรู้สึกเย็นกำลังปูทางไปสู่ยาแก้ปวดชนิดใหม่ๆ นวัตกรรมยาเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับความเจ็บปวดโดยไม่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงหรือเสี่ยงต่อการติดยา
วารสารScience Advances ฉบับวันที่ 21 มิถุนายนปีนี้เผยแพร่ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ Wade Van Horn จากคณะวิชาวิทยาศาสตร์โมเลกุลและศูนย์การออกแบบชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา เพื่อการวินิจฉัยเฉพาะบุคคลซึ่งเผยถึงข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับ TRPM8 (transient receptor potential melastatin 8) โดยอาศัยศาสตร์และกระบวนทางเทคนิคจากหลายสาขาเช่นชีวเคมีและชีวฟิสิกส์เพื่อวิเคราะห์ TRPM8 ที่เป็นเหมือนตัวแปลงสัญญาณระดับโมเลกุลขั้นปฐมภูมิของการรับความรู้สึกเย็นในร่างกาย
ศาสตราจารย์ Van Horn กล่าวว่าการเริ่มเข้าใจวิวัฒนาการของ TRPM8 และขั้นตอนการทำงานตรวจจับความเย็นในสารโปรตีนนี้ได้ ก็อาจจะนำไปสู่การผลิตยาแก้อาการปวดชนิดใหม่ที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ทั้งนี้เมื่อร่างกายสัมผัสสิ่งที่มีความเย็น TRPM8 จะทำงานเพราะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวดหลากหลายรวมถึงอาการปวดเส้นประสาทเรื้อรังและการอักเสบ
ข้อมูล :