มหาวิทยาลัย East Anglia (UEA) และมหาวิทยาลัย Queen Mary ของอังกฤษ แสดงผลการวิจัยที่ยืนยันว่า การสแกนหัวใจด้วย MRI ทำให้คาดการณ์ถึงภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคตของแต่ละบุคคลได้แม่นยำกว่าการตรวจแบบ invasive heart tests
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าร่วม Biobank ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 39,000 คน แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงความดันที่ตรวจพบโดย MRI สามารถระบุความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องอาศัยการสวนหัวใจ การใช้เครื่องมือตรวจหัวใจขั้นสูง และการฉีดสี Dr. Pankaj Garg ผู้เขียนรายงานวิจัยจาก UEA กล่าวว่า การวัดค่าความดันจาก MRI สามารถคาดการณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือว่าบุคคลนั้น ๆ มีโอกาสจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และพบว่าผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีความดันโลหิตสูงและผ่านการตรวจวัดด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นวิทยุความถี่จำเพาะ หรือ MRI มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะเวลา 6 ปี
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากความดันที่สูงขึ้นและนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ได้แก่ อายุเกิน 70 ปี มีความดันโลหิตสูง ร่างกายอ้วนกว่าปกติ ดื่มแอลกอฮอล์ และส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เทคนิค Heart MRI ยังสามารถเชื่อมโยงอาการและสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างน่าเชื่อถือ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เทคนิคนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำนายความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวในบุคคลทั่วไปได้หรือไม่ แต่นักวิจัยเชื่อว่า เทคนิค Heart MRI นี้จะนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองเพื่อทำนายความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวในแต่ละบุคคล การตรวจพบความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยชีวิตคนได้อีกมากมาย