นวัตกรรมใหม่ของสถาบัน New Keck Medicine of USC ในสหรัฐอเมริกา กำลังจะเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคเบาหวานขั้นร้ายแรงที่มีแผลติดเชื้อและอาจจะต้องตัดแขนขาทิ้ง
ศาสตราจารย์ David G. Armstrong ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเท้า แขน ขา ของสถาบัน New Keck Medicine of USC นำทีมวิจัยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และทดสอบการใช้วิธีถ่ายภาพด้วยแสงออโตฟลูออเรสเซนซ์ (Autofluorescence หรือ AF) เพื่อตรวจหาและกำจัดแบคทีเรียในบาดแผลให้หมดจด
อุปกรณ์ AF ที่มีขนาดเล็กพกพาได้ง่ายจะส่องแสงสีม่วงไปยังผนังเซลล์ของแบคทีเรียจจนทำให้เกิดการเปลี่ยนสี ทำให้ศัลยแพทย์ทราบได้ทันทีว่ามีแบคทีเรียหลงเหลือจากการทำความสะอาดแผล (debridement) ในแผลจำนวนเท่าใดและเป็นชนิดใดบ้าง จึงทำให้การทำงานกำจัดแบคทีเรียในแผลเรื้อรังแม่นยำและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ศาสตราจารย์ Armstrong ยืนยันว่า การตรวจหาและกำจัดแบคทีเรียออกจากบาดแผลตั้งแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการตัดแขนขาที่หลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ ชาวอเมริกันจำนวน 6.5 ล้านคน ต้องทนทรมานกับบาดแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถหายได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน บาดแผลเกือบทั้งหมดมีแบคทีเรีย ถ้าตรวจไม่พบและฆ่าแบคทีเรียเหล่านี้ไม่หมด ก็จะนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงและส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ รวมถึงการต้องตัดแขนขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (American Diabetes Association) ประมาณว่า 20% ของผู้ที่มีแผลที่เท้าจากโรคเบาหวานจะต้องตัดแขนขาท่อนล่างออก
ข้อดีอีกประการหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ หากตรวจพบแบคทีเรียตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยในการหลีกเลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะที่มักทำให้การดูแลบาดแผลยืดเยื้อออกไปและเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในภายหลัง
ข้อมูล : https://medicalxpress.com/news/2024-08-technology-bacteria-wounds-infection.html