การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดต่อมลูกหมาก

สาเหตุที่ต้องผ่าตัดต่อมลูกหมากส่วนใหญ่มาจากการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือต่อมลูกหมากโต ทำให้เบียดทางเดินปัสสาวะ เป็นอุปสรรคในการขับปัสสาวะ ในที่นี้เราจะเน้นในกรณีมะเร็ง โดยปัจจุบันการผ่าตัดต่อมลูกหมากที่มีมะเร็งออกทั้งหมด สามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปิดช่องท้อง หรือการผ่าตัดโดยการใช้กล้องเจาะผ่านหน้าท้อง ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดแนวใหม่ซึ่งมีข้อดี คือ ผู้ป่วยจะมีการเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย เสียเลือดในระหว่างผ่าตัดก็น้อย รวมทั้งมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดไว แต่ก็จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดด้วยกล้อง รวมทั้งระยะเวลาในการผ่าตัดโดยทั่วไปมักจะนานกว่าการผ่าตัดเปิดเล็กน้อย การดูแลตัวเองของผู้ป่วย คือ


ก่อนการผ่าตัด
ก่อนทำการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้คุยกับวิสัญญีแพทย์เรื่องวิธีวางยาสลบที่เหมาะสม แพทย์จะให้ผู้ป่วยงดอาหารและดื่มน้ำหลังเที่ยงคืนก่อนวันทำผ่าตัด อาจมีการสวนอุจจาระหรือให้ยาระบายก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้ยานอนหลับก่อนผ่าตัด เพื่อให้ได้พักผ่อนเต็มที่


ขณะทำการผ่าตัด
เมื่อผู้ป่วยถูกนำเข้าไปในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึก สารอาหาร และยาทางหลอดเลือดดำ ในระหว่างทำผ่าตัด จะมีการตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร และการหายใจอยู่ตลอดเวลา


หลังผ่าตัด
เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นแผล ผู้ป่วยอาจจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวระยะหนึ่งตามวิธีการทำผ่าตัดที่ใช้ ประมาณ 2-3 วัน จนกว่าผู้ป่วยจะคืนสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำได้จากแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลอยู่ โดยทั่วๆไปการดูแลตัวเองจะมีดังต่อไปนี้
1. ขณะที่อยู่โรงพยาบาล
เมื่อเอาน้ำเกลือออก ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ หลังผ่าตัดอาจมีการใส่สายสวนปัสสาวะไว้ ให้ปัสสาวะไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะลงในถุงรองรับน้ำปัสสาวะที่สะอาด ปราศจากเชื้อ ในระหว่างที่ผู้ป่วยนอนพักประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับปวด ยาลดการเกร็งตัวของกระเพาะปัสสาวะ และยาทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องออกแรงเบ่งเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะฉีกขาดของแผลเป็นที่ต่อมลูกหมากขณะที่แผลกำลังจะหาย ในช่วงของการฟื้นฟูสุขภาพ ผู้ป่วยไม่ต้องตกใจถ้ามีปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งเป็นไปได้หลังทำผ่าตัด ให้พยายามดื่มน้ำมากๆ ซึ่งจะช่วยชะล้างเอาลิ่มเลือดออกมาได้
2. ที่บ้าน
ปกติประมาณ 4-5 วัน หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งระยะ 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะลำบากเล็กน้อยในการปัสสาวะ จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ อาจจะเห็นเลือดปนน้ำปัสสาวะ เนื่องจากสะเก็ดแผลหลุดมาจากแผลที่บริเวณทำผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์อีกครั้งใน 2-4สัปดาห์ต่อมา หรือตามแพทย์นัด เพื่อตรวจหลังผ่าตัด


การปฏิบัติตัว
- งดยกของหนัก (แม้แต่การก้มลงเก็บกระดาษบนพื้น เพราะมันเท่ากับผู้ป่วยกำลังยกน้ำหนักตัวเอง)
- รับประทานอาหารได้ตามปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- จำกัดการออกกำลัง แม้จะเดินบนพื้นต่างระดับ
- ผู้ป่วยอาจต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของการทำผ่าตัด


เมื่อมีอาการต่อไปนี้ต้องรีบมาพบแพทย์
1. มีภาวะเลือดออก
2. มีไข้ หนาวสั่น
3. ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่หมด
4. ยังต้องเบ่งถ่ายอุจจาระทุกวัน แม้ว่าจะได้รับยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มแล้ว


ภาวะเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน
ไม่ว่าการผ่าตัดวิธีใดก็มีความเสี่ยง และอาการแทรกซ้อน ภาวะเสี่ยงอันดับแรก คือ การไหลย้อนกลับของน้ำอสุจิ เพราะการทำผ่าตัดได้ตัดกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหลั่งน้ำอสุจิ ดังนั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์น้ำอสุจิอาจไหลย้อนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แทนที่จะออกไปทางท่อปัสสาวะ แต่ความรู้สึกทางเพศของผู้ป่วยจะมีเหมือนเดิม ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนปกติ อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่พบได้บ่อยของการผ่าตัดต่อมลูกหมาก คือ ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Impotence) และบางรายการควบคุมการปัสสาวะจะเสียไป (Urinary Incontinence) ดังนั้น หากหลังการผ่าตัดสังเกตพบว่าอวัยวะเพศไม่เกิดการแข็งตัวอย่างเคย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีวิธีการรักษาหลายวิธีที่ได้ผล


นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้ คือ การติดเชื้อ, ปอดบวม, ภาวะเลือดออก, การทำงานของกระเพาะปัสสาวะลดลง, มีลิ่มเลือด, การกลั้นปัสสาวะไม่ดีเท่าก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขและบรรเทา และแม้ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ผู้ป่วยก็ควรพบแพทย์ตามนัด และปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.siamca.com/article/detail/165