วิจัยชี้ ‘ภาวะเปราะบาง’ เพิ่มความเสี่ยง ‘โรคสมองเสื่อม’

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนวาดรูปต้นไม้ที่สวนสาธารณะเฮกในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 8 พ.ค. 2021)

 


ซิดนีย์, 13 พ.ย. (ซินหัว) — มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เผยแพร่งานวิจัยนานาชาติที่นำโดยออสเตรเลีย ซึ่งพบว่าภาวะเปราะบาง (frailty) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งความเชื่อมโยงนี้อาจช่วยส่งเสริมการป้องกันภาวะเสื่อมของระบบประสาทได้


ภาวะเปราะบางเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่พบได้ในผู้สูงอายุ หมายถึงการที่ระบบอวัยวะต่างๆ สูญเสียความยืดหยุ่นจนทำให้มีโอกาสที่จะหกล้ม พิการ และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น


การศึกษาวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมระหว่างปี 1997-2024 จากผู้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 29,849 ราย ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยจำนวนนี้มี 3,154 ราย มีภาวะที่พัฒนาไปสู่โรคสมองเสื่อม


เดวิด วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยบริการสุขภาพของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่า ในผู้ป่วย 3,154 ราย ที่มีอาการโรคสมองเสื่อม พบว่าพวกเขามีภาวะเปราะบางเพิ่มและรุนแรงขึ้นในช่วง 9 ปีก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะเปราะบางไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบจากโรคสมองเสื่อมที่ไม่ได้รับการตรวจพบเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ด้วย


วอร์ดระบุว่า การทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างอายุที่มากขึ้น ภาวะเปราะบาง และโรคสมองเสื่อม ช่วยให้สามารถใช้กลยุทธ์การแทรกแซงแบบตรงจุดเพื่อลดความเสี่ยงและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ โดยผลการศึกษานี้สนับสนุนการรวมเอาการตรวจคัดกรองภาวะเปราะบางเข้ากับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ


ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นคำเรียกโรคหลายชนิดที่ส่งผลต่อความจำ ความคิด และพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกมากกว่า 55 ล้านราย


 

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.xinhuathai.com/china/477220_20241114