พังคี สรรพคุณและประโยชน์ของพังคี 3 ข้อ ! (ปังคี)

โดย เมดไทย , เมื่อ 13 ธันวาคม 2020 (เวลา 02:06 น.)

สมุนไพรพังคี หรือ ปังคี มีชื่อสามัญว่า Thick-leaved croton, Thick leaf croton, Cockbone’s aroma[5] พังคี ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton crassifolius Geiseler (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Croton chinensis Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1] พังคี และ เจตพังคี จัดเป็นพืชคนละชนิดกัน ซึ่งพังคีจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Croton crassifolius Geiseler ส่วนเจตพังคีจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cladogynos orientalis Zipp. ex Span. แต่ทั้ง 2 ชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน[2]

ลักษณะของพังคี
- ต้นพังคี จะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร สามารถพบได้ทางตอนใต้ของประเทศจีน และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามป่าเบญจพรรณที่ระดับความสูงประมาณ 300-400 เมตร[1]

 - ใบพังคี ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอก มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักตื้น ๆ แผ่นใบมีลักษณะสากคาย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร[1]   

- ดอกพังคี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด เป็นแบบแยกเพศอยู่บนช่อเดียวกัน ดอกมีสีขาวนวล ดอกเพศผู้มีขนาดประมาณ 8 มิลลิเมตร ขอบกลีบมีขนนุ่ม มีเกสรตัวผู้จำนวน 15-25 อัน ส่วนดอกตัวเมียจะคล้ายกับดอกตัวผู้ แต่กลีบดอกจะสั้นกว่า ส่วนก้านชูเกสรยาวเรียว ปลายแยกเป็น 2 แฉก ที่รังไข่มีขนปกคลุมแน่น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1]




- ผลพังคี ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู ผลมีขนขึ้นปกคลุมแน่น เมื่อผลแก่จะแตก ในผลมีเมล็ดลักษณะกลมแกมรี กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1]


สรรพคุณของพังคี
- รากใช้เข้ายาแก้ไข้ โดยผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก 34 ชนิด ใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้ไข้ (ราก)[3],[4]
- รากพังคีช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ปวดแน่นท้อง ด้วยการใช้รากต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ภายนอกด้วยการนำมาฝนทาท้อง หรือใช้ฝนกับน้ำปูนใส ผสมกับมหาหิงคุ์และการบูรใช้ทาท้องเด็กอ่อนจะช่วยทำให้ผายลม หรือใช้รากพังคีผสมกับรากส่องฟ้าดงต้มกับน้ำดื่มก็ได้ (ราก)[1],[3],[4]
- รากใช้ตำประคบแก้อาการปวด (ราก)[4]

 


เอกสารอ้างอิง


           1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “พังคี“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org [13 ธ.ค. 2013].


             2. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th [13 ธ.ค. 2013].


             3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “พังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [13 ธ.ค. 2013].


            4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เจตพังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [13 ธ.ค. 2013].


           5. Medicinal Plant Images Database Hong Kong Baptist University.  “Croton crassifolius Geisel.“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: libproject.hkbu.edu.hk.  [13 ธ.ค. 2013].


ภาพประกอบ :www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)


เรียบเรียงข้อมูลโดย :เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://medthai.com