ปณิศา เอมโอชา
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นับตั้งแต่เข้าเดือนสุดท้ายของปี วงการนวดไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (wellness) ของประเทศ ที่ทำรายได้สูงถึง 1.24 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าอาจไม่ปลอดภัย หลังเกิดเหตุการณ์สูญเสีย 2 กรณี
เหตุการณ์แรก เป็นกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ชญาดา พร้าวหอม นักร้องสาววัย 20 ปี โดยก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้ออกมาเปิดเผยถึงการไปนวดที่ร้านแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ซึ่งมีการนวดแบบบิดคอ ทำให้เธอเชื่อว่าการนวดลักษณะนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการแขนขาอ่อนแรงและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
กระแสวิจารณ์จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงมุ่งไปที่การนวดไทย ทว่าต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่า การเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นจาก "การนวดบิดคอ" จนทำให้กระดูกคอหักหรือเคลื่อน แต่เป็นเพราะโรคกระดูกไขสันหลังอักเสบ และย้ำว่าการนวดไทยไม่ทำให้เสียชีวิต
ขณะที่กรณีที่สอง ผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ มีรายงานข่าวว่า นายลี มูน ทัก ชาวสิงคโปร์ วัย 52 ปี เสียชีวิตหลังจากเข้ารับการนวดน้ำมัน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ว่า ผู้เสียชีวิตหลับและกรนขณะนวด ก่อนจะแสดงอาการหายใจอึดอัด แม้พนักงานพยายามช่วยชีวิตแล้ว แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ โดยฝั่งภรรยาผู้เสียชีวิตไม่ติดใจ และกล่าวเสริมว่า ก่อนมานวด สามีได้ดื่มเบียร์มา และมีการใช้ชีวิตในลักษณะที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก และสุดท้ายเธอขอไม่ให้มีการชันสูตรศพ
แม้ความสงสัยต่อเหตุการณ์ทั้ง 2 จะคลี่คลายไปแล้ว แต่บีบีซีไทยได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนวดไทยและการนวดบิดคอ ตลอดจนความแตกต่างระหว่าง "หมอนวด" และ "แพทย์แผนไทย" ไปจนความเสี่ยงของการนวดที่อาจมีได้
นวดแผนไทยคืออะไร ?
แพทย์แผนไทยประยุกต์ (พท.ป.) อรสา โอภาสวัฒนา อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเจ้าของสถานพยาบาลแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทย และเป็นผู้ให้การรักษาผ่านการนวดแผนไทย อธิบายกับบีบีซีไทยว่า การนวดแบบแพทย์แผนไทยจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบเชลยศักดิ์ และแบบราชสำนักหรือการนวดอายุรเวท (แพทย์แผนไทยประยุกต์)
เธอเสริมว่า การนวดทั้ง 2 แบบนั้น "เป็นการนวดเพื่อบำบัดรักษา บรรเทาอาการปวดทั้งคู่ แต่ปัจจุบัน การนวดแบบราชสำนักใช้สำหรับการรักษาแน่นอน และแบบเชลยศักดิ์ ถูกนำมาสอนผู้ช่วยที่ [เข้ารับ] อบรมการนวดมากกว่า"
ในบทความโดย อ.นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของกองการแพทย์ทางเลือก อธิบายความแตกต่างเพิ่มเติมและที่มาระหว่างการนวดทั้ง 2 แบบ โดยชี้ว่า ต้นกำเนิดของการนวดแบบเชลยศักดิ์นั้นมาจากชาวบ้านช่วยเหลือกันเองในครอบครัว และจะมีการใช้อวัยวะอื่น ๆ ในการนวดนอกจากมือ เช่น การใช้ศอก ท่อนแขน และส้นเท้า
ในทางตรงกันข้าม การนวดแบบราชสำนักมีที่มาจากในพระราชวัง ดังนั้น การนวดจึงต้องรักษาความสุภาพและมักใช้แค่นิ้วมือกดลงบนร่างกาย อีกทั้งยังมีข้อปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่งครัดกว่า ทว่า การนวดไทยทั้ง 2 แบบ ยังต้องคงความสุภาพเอาไว้และจะมีการไหว้เสมอ
พท.ป.อรสาเสริมต่อว่า หลักสูตรแผนแพทย์ไทย ในระบบมหาวิทยาลัยมีการสอนทั้งแบบราชสำนักดั้งเดิม และแบบที่ประยุกต์นำการนวดทั้ง 2 แบบมารวมกัน
บีบีซีไทยยังพบว่า การนวดไทยของสำนักวัดโพธิ์ เป็นแบบผสมผสานทั้งนวดแบบเชลยศักดิ์และราชสำนัก
จากการรวบรวมจากบีบีซีไทย ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีด้านการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งหมายถึงการเรียนการสอนตามหลักการแพทย์แผนไทยที่มีการประยุกต์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาด้วย
"หมอนวด" กับ "แพทย์แผนไทย" ต่างกันอย่างไร
พท.ป.อรสาอธิบายว่า "หมอนวดไทย" ที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการนั้น อาจไม่ใช่ "แพทย์แผนไทย" ทุกคน
ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ระบุว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย" หรือ "ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์" จะต้องเป็นบุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจากสภาการแพทย์แผนไทย
เธอขยายความต่อว่า คนที่จะเป็นแพทย์แผนไทยได้หมายถึง ต้องเรียนจบระดับปริญญาตรีและมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ (แผน ข.) หรือผู้ที่มีวุฒิ ม.3 ขึ้นไป แล้วไปลงเรียนหลักสูตร 800 ชั่วโมง และจบจากสถาบันที่ได้รับการรับรอง (แผน ก.)
ขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมเพื่อศึกษาการนวดหรือการประกอบอาชีพนั้น จะเป็นทั้งกลุ่มที่ได้รับการอบรมจนเป็น "ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย" หรือผู้ที่ได้รับการอบรมมาแล้วเป็นเวลา 330 ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนกลุ่ม "ผู้ให้บริการด้านการนวด" จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมไม่ต่ำกว่า 150 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มหลังนี้จะมีการขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่กับสภาการแพทย์แผนไทย
เมื่อถามต่อว่า แล้ว "ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย" แตกต่างกับผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมทั่วไปอย่างไร พท.ป.อรสาชี้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ขั้นตอนและกระบวนการรักษา เพราะเมื่อเป็นแพทย์แผนไทยแล้ว ก็จะต้องมีการซักประวัติ การตรวจกระดูก การตรวจกล้ามเนื้อ และการไล่ลำดับตามสัญญาณของโรคต่าง ๆ
"สมมติคนไข้ปวดคอ-บ่า-ไหล่มา แต่พอเราตรวจร่างกายแล้ว เรารู้ว่าเป็นที่กล้ามเนื้อหัวไหล่กับกล้ามเนื้อข้อต่อมันดึงกัน อันนี้เราต้องนวดไป เช็กร่างกายไป ถามว่าถ้าเป็นคนนวดที่ฝึกมา 150 ชั่วโมง เขาพอจะบรรเทาอาการปวดได้ไหม ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ระดับหนึ่ง… แต่ในกรณีฉุกเฉิน เรา [แพทย์แผนไทย] จะประเมินศักยภาพตัวเองได้ว่า คนนี้ควรจะอยู่คลินิกหรือเปล่า หรือควรจะส่งต่อแล้ว"
เมื่อมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการแล้ว สถานบริการเองจึงมีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน
ตามข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ณ เดือน ต.ค. 2567 ซึ่งรวบรวมโดยสมาคมสปาไทย พบว่า สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งหมด 17,897 แห่ง แบ่งเป็น ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 16,609 แห่ง สปา 1,092 แห่ง และนวดเพื่อความงาม 196 แห่ง ซึ่งสถานให้บริการเหล่านี้ก็จะมีความแตกต่างจากคลิกนิกแพทย์แผนไทยที่ต้องยื่นคำร้องขอเปิดคลินิกภายใต้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ และสภาแพทย์แผนไทย
โดยปัจจุบันยังไม่มีกฎเรื่องต้องมี "ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย" หรือ "ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์" ในสถานที่ประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559
ข้อดี-ประโยชน์ของการนวดไทย
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การนวดที่ทำโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนวดแบบแพทย์แผนไทย นวดน้ำมัน หรือการนวดแบบแพทย์แผนจีน ล้วนเป็นประโยชน์กับร่างกาย เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และกระตุ้นการไหลเวียนของหลอดเลือด
"ถามว่ามีประโยชน์ไหม ต้องบอกว่ามีครับ เพราะว่าการนวดมันเป็นการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดได้ เพราะฉะนั้นในคนที่มีความเจ็บปวด ความตึงของกล้ามเนื้อ จากการทำงาน หรือจากชีวิตประจำวัน การนวดมันทำให้ผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว… มีรายงานการวิจัยหมดครับ เพราะฉะนั้นถามว่ามีประโยชน์ไหม มีประโยชน์ทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ"
ในบทความสุขภาพที่ตรวจสอบโดย ดร.เมเรดิธ กู๊ดวิน แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แห่งอเมริกา (American Board of Medical Specialties) ซึ่งเธอมีประสบการณ์หลากหลายด้านในเวชศาสตร์ครอบครัวแบบครบวงจร ระบุว่า การนวดแผนไทยสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและอาการปวดไมเกรนได้
สำหรับประเด็นเรื่องการช่วยรักษาอาการปวดนั้น พบว่าเมื่อปี 2560 มีงานวิจัยโดยคนไทย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันออร์โธปิดิกส์ และแผนกสนับสนุนวิชาการ จากโรงพยาบาลเลิดสิน และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ตีพิมพ์บนวารสารนานาชาติด้านการนวดบำบัดและการดูแลร่างกาย (International Journal of Therapeutic Massage and Bodywork) ซึ่งศึกษาผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 120 คน
เมื่อแบ่งผู้เข้าร่วมงานวิจัยออกเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน โดยให้กลุ่มหนึ่งใช้การรักษาแบบการนวดแผนไทย และอีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีการอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวข้อต่อ (เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการกดจุด) การใช้แผ่นร้อน และการยืดกล้ามเนื้อด้วยมือในบริเวณที่มีอาการเจ็บปวด โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการรักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และผลลัพธ์พบว่าทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ยังพบว่า การนวดแผนไทยอาจช่วยผู้ที่มีอาการตึงหรือเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหว
ในงานศึกษาโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านศาสตร์การกายภาพบำบัด Journal of Physical Therapy Science) เมื่อปี 2557 พบว่าการนวดแผนไทยร่วมกับการออกกำลังกายด้วยไม้สำหรับออกกำลังกาย ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มความคล่องตัวในการเดินของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหลังจากทำโปรแกรม 8 สัปดาห์
อีกงานศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปีเดียวกันบนวารสารวิจัยชีวการแพทย์นานาชาติ (BioMed Research International) โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม 60 คน พบว่าการนวดแผนไทยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ให้ผลลดอาการปวดเทียบเท่ากับการรับประทานยาไอบูโพรเฟนเป็นเวลา 3 สัปดาห์
การนวดไทยยังได้รับการยอมรับเรื่องการบรรเทาอาการเครียด และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายได้ด้วย
ความเสี่ยงจากการนวดไทยและวิธีป้องกัน
อย่างไรก็ดี การนวดไทยก็ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยง นพ.วีระพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ชี้ว่า มี 3 จุดสำคัญของร่างกายที่ไม่ควรถูกกดหรือถูกนวด ได้แก่
- จุดที่เปราะบางของร่างกาย อาทิ บริเวณกระหม่อม
- จุดที่เป็นเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ
- จุดที่เป็นเส้นประสาท บริเวณใต้รักแร้
เขาเสริมว่า "อันนี้เคยเจอว่ากด [บริเวณใต้รักแร้] มาจนแขนลีบ นิ้วลีบไปเลย มันเป็นจุดที่เส้นประสาทเยอะที่สุด" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง กล่าว
เมื่อพิจารณาจาก 3 จุดสำคัญนี้ ก็จะสามารถแตกออกไปเป็นจุดอันตรายอื่น ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงเพิ่มเติมได้ เช่น บริเวณระหว่างข้อศอก ท้อง ใต้ข้อพับเข่า และหลังตาตุ่มเท้า โดยเขาย้ำว่า การนวดที่ดีควรจะกดไปบนกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น
สำหรับ พท.ป.อรสา เธอแนะนำว่า สำหรับผู้เข้ารับการนวดที่ทราบว่าตัวเองมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจเลือกเข้ารับการนวดกับแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบวิชาชีพ เนื่องจากแพทย์ฯ สามารถวินิจฉัยความเสี่ยงได้ และอาจเลือกให้แนวทางการรักษาอื่น ๆ แทนการนวด
"บางคนไม่เข้าใจว่า เวลาซักประวัติแล้วทำไมนวดไม่ได้ เช่น เป็นความดันสูง ปกติก็ไปร้านนวดเพื่อนวดได้ แต่ปกติหลังนวดความดันจะสูงขึ้น มันเป็นความเสี่ยง บางทีคนไข้อาจจะมีลิ่มเลือดซึ่งคนไข้ก็ไม่รู้ หมอก็ไม่รู้"
นพ.วีระพันธ์เสริมเช่นกันว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจควรหลีกเลี่ยงหรือปรึกษาแพทย์ก่อน เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เด็กที่อายุน้อยเกินไป ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่มีความเปราะบางของกระดูก เช่น มีกระดูกบาง คนอายุมาก ๆ หรือคนที่เป็นมะเร็ง
"บางทีเวลามะเร็งกระจายไปที่อื่น ๆ อาจจะมีความเจ็บปวดได้ ทำให้คนที่เป็นมะเร็งพยายามจะไปนวด ถ้านวดผ่อนคลายเบา ๆ ผมคิดว่าคงไม่ได้อันตราย แต่ถ้านวดกดจุด กดให้แรง ๆ บางทีอาจกดจนกระดูกหัก เป็นไปได้ในคนที่เป็นมะเร็ง คนที่มีไข้อยู่ ป่วยแบบเฉียบพลันอยู่ ท้องเสีย เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นโควิด อย่างนี้ผมคิดว่าไม่ควรนวด"
นอกจากนี้ นพ.วีระพันธ์ยังเสริมว่า ความเสี่ยงอีกประการสำคัญคือ การเข้ารับการนวดกับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนและมีความรู้มากพอ
"การที่เราจะไปเลือกหมอนวด เลือกร้านนวด ก็ขอให้เลือกอย่างที่มีใบรับประกัน มีใบของกระทรวงสาธารณสุขรับรอง เลือกหมอนวดอาจจะต้องเช็กประวัติบ้าง และสุดท้ายคือ เราต้องระวังตัวเอง เราก็ต้องสังเกตเองด้วยว่าจุดไหนที่ไม่ควรกด ถ้าดูผิดท่าแล้ว เราไม่ต้องเกรงใจหมอนวด เราต้องบอกเขา ไม่เอาจุดนี้ ไม่เอาจุดนั้น ไม่ต้องเกรงใจกัน ความปลอดภัยของเราสำคัญที่สุด"
จัดกระดูก-ดัดคอ เป็นการนวดแผนไทยหรือไม่ และมีความเสี่ยงหรือไม่ ?
นพ.วีระพันธ์อธิบายว่า การนวดจัดกระดูกหรือบิดคอนั้นถูกเรียกว่า "ไคโรแพรคติก" ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่ง และมีหลักการในการใช้ความเร็วสูงแต่ไม่ได้ใช้แรงมากในการบิดหรือจัดกระดูก "ซึ่งแก้ปวดได้"
"โดยหลักการเขาไปตัดเส้นประสาทขาเข้าของการเจ็บปวด เพราะฉะนั้นคนที่ทำแล้วจะรู้สึกสบายขึ้น" ทว่า นพ.วีระพันธ์เสริมว่า ทั้งไคโรแพรคติกเอง หรือการนวดกดจุดที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูง มีงานวิจัยออกมาชี้ว่า แก้ปวดได้พอกัน จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เข้ารับบริการ
สำหรับไคโรแพรคติกนั้น ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับบริการ อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในปี 2017 พบว่า หลังการศึกษารายงาน 250 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ "ไคโรแพรคติก, ออสทีโอพาธี, การบำบัดด้วยมือ, การจัดกระดูกสันหลัง และการเคลื่อนข้อต่อกระดูกสันหลัง" ประมาณการอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงมีตั้งแต่ 1 ครั้งต่อการรักษา 2 ล้านครั้ง ไปจนถึง 13 ครั้งต่อผู้ป่วย 10,000 คน
แม้ว่าจะเป็นศาสตร์แพทย์ทางเลือกเช่นเดียวกัน และอาจมีท่าทางการนวดที่คล้ายกันบ้าง ทว่า พท.ป.อรสาชี้ว่า สำหรับแพทย์แผนไทยนั้น "ถ้าคำว่า 'จัดกระดูกโดยตรง' ในแพทย์แผนไทยยังไม่มี"
"แต่ถามว่าเวลาเรานวด เรานอนคว่ำแล้วยืดตัว ยืดหลังง่าย ๆ บางทีแค่กดลงไป มันก็มีการดังกร๊อบแล้ว ไม่ต้องถึงกับดัดกระดูก"
ตามข้อมูลจากสมาคมไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย การแพทย์ทางเลือกชนิดนี้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยมาตั้งแต่ปี 2549 แต่แพทย์ผู้ให้การรักษาการจัดกระดูกนั้นต้องผ่านการสอบไคโรแพรคติกในประเทศไทย ซึ่งตามข้อมูลจากสมาคมพบว่า มีแพทย์จัดกระดูกทั้งหมด 35 คน ในปัจจุบัน
อีกประการที่สำคัญคือ ไคโรแพรคติกจะต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบการคลินิก หรือโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ในสถานที่อื่น ๆ เช่น สปา หรือ ฟิตเนสเซ็นเตอร์
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของรูป : GETTY IMAGES
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :: https://www.bbc.com/thai/articles/c80vp97p3npo