เช็กอาการ 'ไอกรน' โรคระบาดสุดอันตราย ติดต่อง่าย

โดย : หมอคู่คิดส์ | 19 พฤศจิกายน 2024


 


โรคไอกรนถือเป็นอีกหนึ่งโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นโรคติดต่อที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง แต่ต้องไม่ตื่นตระหนก เพราะถือเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ หากมีการดูแลลูกน้อยที่เหมาะสม ก็จะช่วยสามารถช่วยป้องกันภัยร้ายนี้ บทความนี้จะพาทุกคนไปเช็กอาการของโรคนี้กันว่า ไอแบบไหน ที่เรียกว่าไอกรน


โรคไอกรนคืออะไร
โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งมักพบในเด็กเล็กและทารก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย โรคนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โรคไอร้อยวัน” เนื่องจากอาการไอที่รุนแรงอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม หรือหายใจรดกัน รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อแบคทีเรียจะถูกปล่อยออกมาในอากาศ และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้

อาการของโรคไอกรนเป็นอย่างไร
อาการของโรคไอกรนมักเริ่มต้นคล้ายกับอาการหวัดทั่วไป แต่จะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้รับเชื้อแล้ว จะมีระยะฟักตัว 7-10 วัน หรือนานได้ถึง 20 วัน โดยอาการแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้


ไอกรนระยะเริ่มต้น
ถือเป็นระยะที่แยกโรคได้ยาก เพราะอาการที่แสดงออกมานั้นจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ผสานกับอาการอื่นๆ เช่น
– ไอ
– น้ำมูกไหล
– มีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลย
จากนั้นจะเริ่มไอหนักขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้ว่าจะเป็นอาการไอแบบแห้งๆ โดยอาการเหล่านี้จะกินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถือเป็นระยะของโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด


ไอกรนระยะรุนแรง
ระยะนี้ถือเป็นช่วงที่มีอาการแบบเด่นชัดที่สุด กินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผ่านอาการต่างๆ ดังนี้
– ไอรุนแรงเป็นชุดๆ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
– ไอจนหายใจไม่ออก สลับกับการหายใจเข้าอย่างรุนแรงจนเกิดเสียงวู๊บๆ
– ตาแดง
– ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจไอจนหน้าเขียว ตัวเขียว จากการหยุดหายใจ หรือจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ
– เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก


ไอกรนระยะฟื้นตัว
ในระยะนี้่อาการไอจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้น ถือเป็นระยะที่ความรุนแรงของอาการทั้งหมดลดลง แต่ก็ยังคงไอต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น สามารถหายจากโรคได้ภายใน 6-10 สัปดาห์


ถ้าเด็กเล็กเป็นโรคไอกรน จะเป็นอย่างไร
หากไอกรนเกิดขึ้นในเด็กเล็ก เด็กจะไอโดยเฉลี่ยประมาณ 112 วัน ภายใน 3 ระยะของโรคตามที่ได้กล่าวไป นอกจากนี้หากเด็กทารกและเด็กเล็กเป็นโรคไอกรน อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนวัยอื่น โดยตัวอย่างของภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
– หยุดหายใจชั่วคราว
– ปอดอักเสบ
– ชัก
– สมองอักเสบ หรือขาดออกซิเจน
– น้ำหนักลด เนื่องจากอาเจียนบ่อย


*หากเด็กเล็กมีอาการไอเรื้อรังนานถึง 2-3 เดือน หรือดูภาพรวมแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาน้องไปพบแแพทย์โดยด่วน*

โรคไอกรน รักษาอย่างไร
การรักษาโรคไอกรนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและอายุของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วการรักษาจะประกอบด้วย
การให้ยาปฏิชีวนะ : ซึ่งในระยะแรกจะช่วยลดความรุนแรงของอาการและระยะเวลาการแพร่เชื้อได้ ถ้ามีการตรวจวินิจฉัยไวและให้ยารักษาได้ทัน แต่หากมีอาการไอที่หนักขึ้นแล้ว การรักษาวิธีนี้อาจไม่ค่อยได้ผล
การรักษาตามอาการ : เป็นการให้ยาเพื่อรักษาตามอาการที่เป็น เช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม หรือการให้ออกซิเจน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจน
เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการไอ : ไม่ว่าจะเป็นการออกแรง การอยู่ในที่ฝุ่นหรือควันมาก การร้องไห้ หรือการอยู่ในที่อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด


การดูแลและป้องกันโรคไอกรน
การป้องกันเบื้องต้นสำหรับโรคไอกรน สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้จากภายในครอบครัว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เช่น
– ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ
– สวมหน้ากากอนามัย
– ดื่มน้ำอุ่น
– เลี่ยงการไปสถานที่แออัด
– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
– สอนให้ลูกปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไอกรน

วิธีป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน
นอกจากวิธีป้องกันแบบเบื้องต้นแล้ว วิธีป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนโรคไอกรน ซึ่งปัจจุบันวัคซีนไอกรนถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องเข้ารับ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคในอนาคต โดยวัคซีนโรคไอกรนควรเข้ารับให้ครบตามช่วงอายุ ดังนี้
– ครั้งที่ 1 : อายุ 2 เดือน
– ครั้งที่ 2 : อายุ 4 เดือน
– ครั้งที่ 3 : อายุ 6 เดือน
– ครั้งที่ 4 : อายุ 18 เดือน
– ครั้งที่ 5 : ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี

สรุปเรื่องราวของโรคไอกรน
โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและการรักษาสุขอนามัยที่ดี การปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพอย่างเข้มงวดและการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยและแพร่กระจายโรคไอกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์ระบาดของโรคไอกรนเมื่อสัปดาห์ก่อนที่เกิดขึ้นประเทศไทยถือว่ายังควบคุมได้ ซึ่งทุกคนตื่นตัวได้แต่ไม่ควรตื่นตระหนก และหมั่นดูแลลูกน้อยของคุณอยู่เสมอ


คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://morkookids.com/pertussis-in-kids