“รู้ทันฝ้า - กระ รักษาได้”

พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี

          สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย (หรือ DST) ตระหนักที่จะทำหน้าที่เพื่อตอบแทนสังคมเผยแพร่และทำการรักษาและให้ความรู้กับประชาชนทั่วประเทศสำหรับปัญหาเรื่องฝ้าของคนไทย โดยเฉพาะ สาว ๆ ที่มักประสบปัญหาอยู่เสมอ จึงนำมาให้ความรู้และวิธีการรักษาและป้องกันให้ถูกวิธี
          ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นสีคล้ำที่อยู่บนใบหน้า อาจมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลเทา ฝ้าแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ฝ้าตื้น ฝ้าลึกและฝ้าผสม โดยขึ้นอยู่กับความลึกของตำแหน่งเม็ดสีที่ผิวหนัง โดยคนส่วนใหญ่มักเป็นฝ้าผสมมากกว่า ซึ่งการจะรู้ว่าตนเองเป็นฝ้าชนิดไหน การดูด้วยตาเปล่าจะค่อนข้างยาก ควรใช้ Wood’s lamp อาจจะช่วยบอกชนิดของฝ้าได้ โดยลักษณะของฝ้าตื้นมีลักษณะขอบเขตชัดเจน ในขณะที่ฝ้าลึกมีขอบเขตไม่ชัดเจน ส่วนความเข้มของสีจะนำมาใช้พิจารณาชนิดของฝ้ายากเนื่องจากขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคนบางครั้งอาจพบอาการแดงจากปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณฝ้าได้ด้วย

          ฝ้าและกระมีลักษณะอย่างไร
          ฝ้าจะมีลักษณะเป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นปื้นสีคล้ำที่อยู่บนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม จมูก เหนือริมฝีปากและคาง ส่วนกระแดด มีลักษณะเป็นปื้นราบ ๆ สีน้ำตาล ขอบเขตชัด เป็นวงกลมขนาดไม่ใหญ่ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้า ประกอบด้วย
          1. การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตทั้ง A (UVA) และ B (UVB) ที่มีอยู่ในแสงแดด เป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้เกิดฝ้า
          2. ฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะ Estrogen เนื่องจากผู้หญิงเป็นฝ้ามากกว่าผู้ชาย โดยมักพบในช่วงที่รับประทานยาคุมกำเนิดและช่วงตั้งครรภ์
          3. พันธุกรรมและเชื้อชาติ โดยพบว่าคนเอเชียเป็นฝ้าได้ง่ายกว่าคนผิวขาวและสามารถพบในครอบครัวเดียวกันได้บ่อยด้วย
          สำหรับวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้านั้น ควรเลี่ยงการรับประทานยาคุมกำเนิดและหลบแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10:00-15:00 น. หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้ยาทากันแดด และสวมหมวกปีกกว้างจะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้ โดยการรักษาฝ้ามีแนวทางดังนี้
          1. การรักษาตามสาเหตุและแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงจากสาเหตุนั้น เช่น พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือใช้ครีมกันแดด
          2. การทำให้ฝ้าจางลงโดยการใช้สารที่ทำให้ผิวขาว โดยทั่วไปมักใช้ยาทาผสมกันหลายตัว และต้องดูผลการรักษาบ่อย ๆ ทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อสังเกตผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผิวตรงที่ทายามีอาการแดง หรือบางลงกว่าปกติ ถ้ามีผลข้างเคียงอาจต้องปรับยา
          3. การลอกฝ้าด้วยสารเคมี ซึ่งเป็นวิธีการเสริม เพื่อทำ ให้ฝ้าจางเร็วขึ้นโดยทั่วไปจะใช้กรดอ่อน ๆ เช่น alpha hydroxyl acids (AHAs) หรือ trichloroacetic acid (TCA) 30-50% เพื่อทำให้เซลล์ผิวหนังในชั้นบน ๆ หลุดลอกออก และทำให้เม็ดสีที่อยู่ด้านบนหลุดออกไป การลอกฝ้านั้นจะต้องทาติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ทุก 2-4 สัปดาห์ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้นแต่หากทำเองหรือไม่ใช่แพทย์ผู้ไม่ชำนาญมีโอกาสเสี่ยงซึ่งผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง เช่น หน้าลอกหรือไหม้ได้

          หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝ้า ซึ่งการรักษาเองด้วยการพอกหน้าด้วยผลไม้มีฤทธิ์เป็นกรดนั้น ไม่ควรรักษาด้วยวิธีการนี้ เนื่องจากผลไม้มีฤทธิ์เป็นกรด และกรดจากผลไม้ไม่สามารถทดแทนการลอกฝ้าด้วยสารเคมี AHA หรือ TCA ได้ นอกจากนั้นอาจทำให้ผิวหนังอักเสบเกิดเป็นผื่นคัน เมื่อผื่นหาย อาจทำให้ฝ้าคล้ำมากขึ้นผลไม้บางอย่าง เช่น มะนาว ถ้ามีการทาแล้วไปสัมผัสกับแสงแดด อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนัง เกิดเป็นผื่น ดำ คล้ำในบริเวณที่ทาได้ และจากรายงานการศึกษาพบว่าชาเขียวมีคุณสมบัติในการลดอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ พบว่าสารสกัดจากชาเขียว ช่วยลดอาการแดง, ลดจำนวนของเซลล์ที่ไหม้และป้องกันการทำลาย DNA จากแสงอัลตราไวโอเลตหรือยูวี ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากชาเขียวอาจจะมีส่วนช่วยลดการอักเสบจากแสงอัลตราไวโอเลตซึ่งมีผลต่อการเกิดฝ้า อย่างไรก็ตามสารสกัดจากชาเขียวอาจมีความเข้มข้นของสารประกอบไม่เท่ากับการกินชาเขียวที่ซื้อได้ทั่วไปและในขณะนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษาที่มีการตีพิมพ์แล้วแสดงผลว่าสารสกัดจากชาเขียวช่วยรักษาฝ้าได้
          ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาฝ้า
          หัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาฝ้า คือ คนที่เป็นฝ้าควรจะหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่กระตุ้นการเกิดฝ้าและหลีกเลี่ยงการตากแดด รวมทั้งใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ในการทาครีมกันแดด ควรจะทาปริมาณที่เพียงพอในตอนเช้าและทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมงเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือมีกิจกรรมทางน้ำ การรักษาฝ้าควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เนื่องจากการทายารักษาฝ้าบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงถาวร ถ้ามีการใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน การรักษาเสริม เช่น การลอกฝ้าด้วยสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆควรจะทาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเนื่องจากอาจเกิดอาการไหม้ได้ถ้าใช้ความเข้มข้นของสารนั้นมากเกินไปหรือทิ้งไว้ที่ผิวหน้านานเกินไป การรักษาด้วยเลเซอร์ อาจเป็นการรักษาเสริมซึ่งไม่สามารถทำให้ฝ้าหายขาดได้และควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ฝ้าเป็นปื้นสีเข้มมากขึ้นหรือเกิดรอยขาวได้