สถาบัน MIT ของสหรัฐอเมริกาพัฒนาเทคนิค Metabolic Imaging ในการวินิจฉัยเนื้อเยื่อมนุษย์เพื่อหาเบาะแสของโรคด้วยแสงเลเซอร์ โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์เสียหาย และสามารถส่องลึกลงไปมากกว่าเดิม 2 เท่า พร้อมกับภาพที่คมชัดขึ้น
การใช้ Metabolic Imaging ช่วยให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาเซลล์ที่มีชีวิตด้วยแสงเลเซอร์สำหรับการประเมินการลุกลามของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อแสงกระทบกับเนื้อเยื่อ แสงจะกระเจิงออก จึงทำให้แสงไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปลึก และทำให้ความละเอียดของภาพถดถอยลง ปัจจุบัน ทีมนักวิจัยของ MIT สามารถพัฒนาเทคนิคใหม่ที่เพิ่มขีดจำกัดความลึกของ Metabolic Imaging ได้มากกว่าปกติถึง 2 เท่า หรือมากกว่านั้น
พวกเขาใช้ multimode fiber และ fiber shaper เพื่อควบคุมการหักเหของแสง ปรับสีและจังหวะการพุ่งของลำแสงเลเซอร์ รวมทั้งปรับความเร็วในการถ่ายภาพอีกด้วย ทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความละเอียดสูงขึ้น เทคนิคใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องมีการประมวลผลเนื้อเยื่อล่วงหน้า เช่น การตัดหรือย้อมสีเนื้อเยื่อ ในทางกลับกัน เลเซอร์ชนิดพิเศษนี้จะส่องสว่างลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อ ทำให้โมเลกุลภายในเซลล์และเนื้อเยื่อสะท้อนแสงออกมา ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อ โครงสร้างและกระบวนการของเนื้อจึงยังคงเป็นธรรมชาติเหมือนเดิม
เทคนิค Metabolic Imaging รุ่นใหม่นี้จึงเหมาะสำหรับงานด้านการวิจัยมะเร็ง วิศวกรรมเนื้อเยื่อ การค้นคว้าด้านยา และการศึกษาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยทางชีววิทยาอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งข้อมูล : https://meche.mit.edu/news-media/noninvasive-imaging-method-can-penetrate-deeper-living-tissue