ที่มาของการมีกลิ่นปาก ปากเหม็น อาจเกิดจากโรค

กลิ่นปาก เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะบ่งบอกถึงสถานะทางสุขภาพแล้ว ในด้านของบุคลิกเองก็สูญเสียไปด้วยเพราะกลิ่นอันไม่พึงประสงค์นี้ อย่างไรก็ตามกลิ่นปากสามารถถูกขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ หากเรารู้สาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัด


สาเหตุของกลิ่นปาก
1. การดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากที่ไม่ดีพอหรือผิดวิธี โดยปกติในช่องปาก ฟันจะทำหน้าที่บดเคี้ยวฉีกอาหารโดยมีเหงือกคอยพยุงโอบอุ้มตัวฟันไว้ หากการกินอาหารแต่ละครั้งแล้วความทำความตัวฟันและตามซอกฟันไม่ทั่วถึง ก็จะทำให้อาหารตกค้างเกิดกลิ่นเน่าบูดและก่อให้เกิดกลิ่นปากขึ้นมา รวมถึงคราบอาหารจุลินทรีย์ที่ตกค้างเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ซึ่งจะสะสมตามรอยหยักของลิ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก
2. การมีฟันผุ ฟันผุที่เป็นหลุมแล้วมีเศษอาหารติดก็เหมือนกับการมีถังขยะใบเล็ก ๆ ในช่องปากเมื่อมีการสะสมจึงเกิดการบูดเน่าและกำจัดออกไม่ได้ จึงส่งกลิ่นออกมาตลอดเวลา หากรอยโรคลุกลามจนมีการติดเชื้อมีหนองในตัวฟันและรอบตัวฟัน เกิดการอักเสบในช่องปากย่อมเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
3. โรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ เกิดจากการสะสมของคราบอาหารจุลินทรีย์และมีหินปูนมาเกาะรอบ ๆ ตัวฟันมีการอักเสบของเหงือก มีการทำลายของเนื้อเยื่อรอบตัวฟัน เช่น กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ เกิดหนองมีอาการฟันโยกคลอน เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นปากได้


รักษาและป้องกันอย่างไรดี
1. การรักษาปากให้หายเหม็น ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อนโดยการแปรงฟัน แปรงลิ้น ใช้ไหมขัดฟัน อย่างถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของอาหารและคราบจุลินทรีย์อันจะก่อให้เกิดโรคฟันผุและเหงือกอักเสบได้
2. การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ลูกอม สเปรย์พ่นปาก ช่วยลดการเกิดกลิ่นปากได้จริงหรือ ดังที่กล่าวมาการที่จะขจัดกลิ่นปากให้หมดไปจะทำได้ก็ต่อเมื่อขจัดสาเหตุที่แท้จริงออกไป ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้เป็นการรักษาแก้ไขอย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้าม น้ำยาบ้วนปากบางชนิดมีตัวยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในช่องปากทำให้มีแบคทีเรียดังกล่าวลดลงส่งผลให้เชื้อราซึ่งปกติมีอยู่แล้วเจริญได้ดีจนเกินไปก่อให้เกิดโรคตามมา นอกจากนี้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดมีฤทธิ์กัดทำลายเยื้อบุช่องปากเกิดการระคายเคืองอักเสบในช่องปาก บางชนิดยับยั้งการไหลของน้ำลายทำให้น้ำลายลดลงปากแห้งกลิ่นปากก็ตามมาอีก
3. การตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ หากมีฟันผุก็ควรได้รับการอุดฟัน กรณีผุมากจนอุดไม่ได้ก็ควรถอนหรือรักษารากฟัน มีหินปูนหรือคราบอาหาร ก็ทำการขูดหินปูน ขัดทำความสะอาดช่องปาก หรือกรณีมีฟันคุด ฟันซ้อนเก ทำให้การทำความสะอาดลำบาก ก็จะแก้ไขเช่นผ่าฟันคุด ถอนฟันที่ไม่สามารถแปรงเข้าถึงได้ หรือการจัดฟันเพื่อช่วยให้การเรียงตัวของฟันดีเป็นระเบียบทำให้สะดวกต่อการทำความสะอาด ลดการหมักหมมของเศษอาหาร กลิ่นปากก็จะหายไป

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://ch9airport.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99