พญ. ณฐมน ศรีสำราญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต้อหิน ศูนย์ตา โรงพยาบาลพญาไท 1
โรคตาที่เกิดจากรังสียูวี แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- โรคที่เกิดในระยะสั้น หากดวงตาได้รับรังสียูวีที่มีความเข้มข้นสูงหรือนาน จะทำให้กระจกตาอักเสบ (photokeratitis) มีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง (photophobia) ตาแดง เจ็บตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
- โรคที่เกิดในระยะยาว รังสียูวีจะมีผลต่อทั้งผิวหนังรอบดวงตาและดวงตา เช่น ผิวหนังรอบดวงตาไหม้ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเม็ดสี ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยปกป้องดวงตาและผิวหนังรอบดวงตาของคุณได้ก็คือ แว่นกันแดด เพราะจะช่วยให้เราสัมผัสกับรังสียูวีน้อยลง เปรียบได้กับครีมกันแดดที่ช่วยปกป้องผิวหน้าและผิวกาย
จะเลือกแว่นกันแดดดีๆ สักอันต้องดูอะไรบ้าง?
หลักการเลือกซื้อแว่นกันแดดที่ดีนั้น มีคำแนะนำอยู่ 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. ป้องกันรังสียูวีได้
การที่เราจะทราบว่าแว่นตากันแดดที่เราจะซื้อนั้นสามารถป้องกันรังสียูวีได้หรือไม่ มีวิธีสังเกตง่ายๆ โดยดูจากด้านในของขาแว่น ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ตัวอักษร CE อันเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานยุโรปปรากฏอยู่
ข้อสังเกต
- ตัวอักษร C และ E จะต้องมีความสูง 5 มิลลิเมตร
- มีระยะห่างระหว่างกันเป็นค่าเฉพาะ
- ตัวอักษรมีความโค้งเหมือนวงกลม และความโค้งด้านในของตัวอักษร C จะต้องเท่ากับความโค้งด้านนอกของตัวอักษร E
ส่วนสัญลักษณ์ UV400 หรือ UV40 นั้นเป็นตัวบ่งชี้อัตราการกรองแสงของแว่นกันแดดที่สามารถปกป้องดวงตาได้ โดย UV400 เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงประสิทธิภาพการกรองแสงยูวีที่ดีที่สุด คือ สามารถป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบีได้ 100%
2. ตัดแสงสะท้อนได้
แว่นกันแดดที่ดีจะต้องสามารถตัดแสงสะท้อนได้ หรือเป็นแว่นโพลาไรซ์ เนื่องจากเลนส์แว่นตาทำจากวัสดุชนิดต่างๆ เช่น แก้ว หรือพลาสติก เวลาสวมใส่จะเห็นแสงสะท้อน แว่นตัดแสงสะท้อนจะช่วยทำให้ภาพคมชัดขึ้น ระดับการมองเห็นเพิ่มขึ้น และสบายตาขึ้นเมื่อสวมใส่
3. เลือกใส่ให้เหมาะกับกิจกรรม
เลนส์ที่นิยมนำมาทำแว่นกันแดดมี 3 ชนิด คือ
- เลนส์ CR39 เป็นเลนส์พลาสติกที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด เพราะทนแรงขูดขีดได้ดี ช่วยป้องกันได้ทั้งรังสียูวี และอินฟราเรด
- เลนส์ที่ทำจากแก้ว จะมีความใส และทนต่อแรงขูดขีดได้ดีกว่าเลนส์พลาสติก แต่มีข้อเสีย คือ น้ำหนักมาก และแตกได้ถ้ามีอุบัติเหตุรุนแรง
- เลนส์พลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต จะเบาที่สุด ทนต่อแรงกระแทกได้ดี มักใช้ในแว่นสำหรับสวมเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมผาดโผน ช่วยป้องกันอันตรายต่อดวงตาได้ดีที่สุด
4. สีของเลนส์แว่นกันแดด สีไหนมีคุณสมบัติอย่างไร?
- สีดำ เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งมากที่สุด
- สีเทา ช่วยกรองแสงและตัดแสงจ้า ไม่ทำให้สีเพี้ยน เหมาะสำหรับการใส่ไปเที่ยวทะเล
- สีส้มหรือสีเหลือง ช่วยให้มองภาพในเชิงลึกได้มากขึ้น แต่จะมีการเพี้ยนของสี ทำให้ไม่เหมาะสำหรับการใส่ขับรถ
- สีน้ำตาล ทำให้มองเห็นสีและแสงธรรมชาติได้คมชัดขึ้น เพิ่มวิสัยทัศน์ในการมอง โดยเฉพาะในการขับขี่รถยนต์ หรือจักรยานยนต์
- สีเขียว ช่วยกรองแสงและตัดแสงได้ดีเหมือนสีเทา ช่วยให้สบายตา เหมาะกับใส่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- สีชา และสีเทาดำ เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป
5. เลือกกรอบแว่นให้เข้ากับใบหน้า
รูปทรงใบหน้าของแต่ละคนจะมีลักษณะที่ต่างกันไป การเลือกกรอบแว่นเพื่อให้เหมาะสมมีคำแนะนำ ดังนี้
- ใบหน้าเหลี่ยม ควรใส่แว่นกรอบทรงโค้งกลม
- ใบหน้ากลม ควรใส่แว่นกรอบใหญ่ เพื่อปิดโหนกแก้ม จะทำให้หน้าดูเด็กลง และเน้นแว่นทรงเหลี่ยม
- ใบหน้ายาว ควรใส่แว่นกรอบรี ปิดบริเวณรอบดวงตาได้หมด
- ใบหน้ารูปไข่ สามารถใส่กรอบแว่นได้ทุกแบบ จะให้ดูดีที่สุดควรใส่ทรงเหลี่ยมกรอบสีอ่อน
ส่วนขนาดของกรอบ ควรเลือกกรอบที่ใหญ่ และขาแว่นด้านข้างกว้าง จะช่วยปกป้องผิวรอบดวงตาได้มากขึ้น แว่นกันแดดที่ดีควรปิดแสงได้ทุกด้าน
6. ลองใส่แว่นก่อนตัดสินใจซื้อ
แนะนำว่า ควรลองใส่แว่นเดินไปมา ก้ม-เงยดูว่าไม่ลื่นไหล และเช็กว่าเลนส์อยู่แนบกรอบเลนส์ หรือมีขาเลนส์บิดเบี้ยวหรือไม่
“ประสิทธิภาพของแว่นกันแดดในการป้องกันแสงยูวีนั้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 ปี”
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้ ถ้าใส่บ่อยอาจเสื่อมเร็วขึ้น เป็นความจริงที่ว่า รอยขีดข่วนแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถให้แสงผ่านแว่นกันแดดเข้าไปถึงดวงตาได้ ดังนั้นการดูแลรักษาแว่นไม่ให้มีรอยขีดข่วน และการเก็บไว้ในกล่องแว่นที่เหมาะสมจึงเป็นอีกข้อที่จะช่วยคงประสิทธิภาพการใช้งานของแว่นกันแดดได้
สำหรับเลนส์ย้อมสี (tint lenses) นั้น สีที่จางลงจะเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ที่ช่วยบอกเราว่า ถึงเวลาที่ควรมองหาแว่นกันแดดใหม่ได้แล้ว
แม้จะมีแว่นกันแดดที่ดีและได้มาตรฐาน แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ สวมใส่แว่นกันแดดเสมอเมื่อออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นวันที่มีเมฆ ฟ้าปิด หรือแดดออก โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ซึ่งจะมีปริมาณรังสียูวีที่เข้มข้นมากที่สุด นอกจากนี้การสวมแว่นกันแดดในเด็กนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความเข้มของแสงยูวีสูงด้วย เช่น การอยู่กลางแจ้งนานๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหมวกปีกกว้าง หรือการร่มร่วมด้วย และที่สำคัญที่สุด คือ อย่าลืมเปลี่ยนแว่นกันแดดทุกๆ 2 ปี
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.phyathai.com/th/article/4077-6_%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94_