การรักษาด้วยความร้อนอาจทำให้เคมีบำบัดมีประสิทธิผลมากขึ้น

University College London, Medgadget

          อนุภาคนาโนแม่เหล็กขนาดเล็กมากสามารถเสริมฤทธิ์ในการรักษาโรคมะเร็งได้ โดยส่งยาเคมีบำบัดไปที่เซลล์มะเร็งและผลิตความร้อนเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กสลับจากภายนอก ผสานการรักษาด้วยความร้อนกับเคมีบำบัดฆ่าเซลล์มะเร็ง กลายเป็นเครื่องมือที่ให้ประสิทธิผลสูงในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง
          การศึกษาที่เผยแพร่ใน Journal of Materials Chemistry B พบว่า การนำยาเคมีบำบัดไว้บนอนุภาคแม่เหล็กขนาดเล็กมากที่สามารถทำให้เซลล์มะเร็งร้อนขึ้น ณ เวลาเดียวกับการส่งยาไปที่เซลล์มะเร็งมีประสิทธิผลในการทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่ายาเคมีบำบัดที่ไม่ได้มีการเพิ่มความร้อนถึงร้อยละ 34
          อนุภาคแม่เหล็กนาโนไอรอนออกไซด์ (magnetic iron oxide nanoparticles) ซึ่งพายาเคมีบำบัดไปด้วยจะปล่อยความร้อนเมื่อสัมผัสกับสนามแม่เหล็กสลับ หมายความว่า เมื่ออนุภาคนาโนสะสมตัวในบริเวณเนื้องอก จะสามารถใช้สนามแม่เหล็กสลับจากภายนอกร่างกาย และปล่อยความร้อนและเคมีบำบัดออกไปพร้อมกัน
          ทั้ง 2 วิธี จะเสริมฤทธิ์ผลการรักษาซึ่งกันและกัน นั่นคือ การรักษาแต่ละวิธีจะเสริมประสิทธิผลของอีกวิธี ทำให้การรักษาในขณะที่ใช้ร่วมกันมีพลังมากกว่าในเวลาที่ใช้แยกกัน การศึกษาครั้งนี้ได้ทำกับเซลล์ในห้องปฏิบัติการ และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มขึ้นก่อนการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วย
          ผู้เขียนรายงานอาวุโส Professor Nguyen T. K. Thanh (Biophysics Group, University College London Physics & Astronomy) กล่าวว่า “การศึกษาของเราแสดงถึงศักยภาพอันมหาศาลของการรวมเคมีบำบัดกับการรักษาด้วยความร้อนที่ส่งผ่านอนุภาคนาโนแม่เหล็ก”
          “ขณะที่การผสานวิธีการรักษาเข้าด้วยกันได้รับความเห็นชอบสำหรับการรักษามะเร็ง glioblastomas ที่เติบโตเร็ว ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้มีศักยภาพที่จะใช้ได้กว้างยิ่งขึ้นในฐานะเป็นวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดมากขึ้น”
          “การบำบัดรักษาวิธีนี้ยังมีศักยภาพในการลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัดด้วย โดยมั่นใจว่าการรักษาจะเล็งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งแทนที่จะเป็นเนื้อเยื่อที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาศึกษาในการทดสอบระยะก่อนคลินิกต่อไป”
          ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รวมอนุภาคนาโนแม่เหล็กกับยาเคมีบำบัดที่ใช้กันทั่วไป คือ doxorubicin และเปรียบเทียบผลของการผสมการรักษาในหลาย ๆ ฉากทัศน์ (scenario) กับเซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์, เซลล์ glioblastoma (โรคมะเร็งสมอง) และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของหนูทดลอง
          ในฉากทัศน์ที่ประสบความสำเร็จที่สุด คณะทำงานพบว่าความร้อนและยา doxorubicin ได้ร่วมกันฆ่าเซลล์มะเร็งสมองร้อยละ 98 หลังจาก 48 ชั่วโมง ขณะที่ยา doxorubicin ซึ่งไม่มีการให้ความร้อนฆ่าได้ร้อยละ 73 ขณะเดียวกันสำหรับมะเร็งเต้านม พบว่า ความร้อนและยา doxorubicin ร่วมกันฆ่าได้ร้อยละ 89 ขณะที่ยา doxorubicin อย่างเดียวฆ่าได้ร้อยละ 77 หลังจาก 48 ชั่วโมง
          เซลล์มะเร็งไวต่อความร้อนมากกว่าเซลล์ปกติ และค่อย ๆ ตาย (apoptosis) ทันทีที่อุณหภูมิถึง 42 องศาเซลเซียส ในขณะที่เซลล์ปกติสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 45 องศาเซลเซียส
          คณะผู้วิจัยได้พบว่า การให้ความร้อนกับเซลล์มะเร็งแค่ไม่กี่องศา จนถึง 40 องศาเซลเซียส จะเพิ่มประสิทธิผลของเคมีบำบัดให้สูงขึ้น นั่นหมายความว่า การรักษาสามารถเกิดประสิทธิผลด้วยอนุภาคนาโนที่ขนาดยาต่ำลงได้
          คณะทำงานพบว่า การรวมวิธีรักษาจะเกิดประสิทธิผลมากที่สุดเมื่อมีเซลล์มะเร็งดูดซึมหรือฝังอนุภาคนาโนเข้าไป แต่พบว่าเคมีบำบัดยังได้รับการเสริมฤทธิ์มากขึ้นเมื่ออนุภาคนาโนปล่อยความร้อนในขณะที่อยู่ภายนอกเซลล์มะเร็ง (ซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายกว่าสำหรับให้การรักษา) อย่างไรก็ตาม ผล ณ อุณหภูมิที่ต่ำกว่าจะเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคนาโนเหล็กออกไซด์ได้ฝังเข้าไปในเซลล์มะเร็งหรือตกตะกอนแน่นบนผิวของเซลล์มะเร็ง
          อนุภาคนาโนยังมีการเคลือบชั้นโพลิเมอร์ซึ่งจะป้องกันอนุภาคไม่ให้ปล่อยยาเคมีบำบัดจนกว่าจะถูกฝังเข้าไปใน lysosomes ภายในเซลล์มะเร็ง ความเป็นกรดของ lysosomes ซึ่งมีค่า pH ต่ำจะทำให้โพลิเมอร์ปล่อยยาออกไปฆ่าเซลล์มะเร็ง
          การส่งยาภายในเซลล์มีประสิทธิผลโดยเฉพาะสำหรับเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของหนูทดลอง ซึ่งแสดงให้เห็นผลที่ทำให้เซลล์ตายโดยการเสริมฤทธิ์กันและได้ผลดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 42°C
          Dr. Olivier Sandre ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาจาก University of Bordeaux กล่าวว่า “เนื่องจากสามารถสร้างความร้อนผ่านสนามแม่เหล็กสลับได้ การปล่อยยาจึงสามารถจำกัดพื้นที่เฉพาะไปยังเซลล์มะเร็งได้มาก และมีศักยภาพในการลดผลข้างเคียงได้