“กองทุนบัตรทอง” เพิ่ม “ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีทุกสายพันธุ์” เป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่มีสิทธิบัตรทองทุกคน พร้อมจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้หน่วยบริการที่ตรวจคัดกรองในผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดโอกาสการเป็นตับแข็ง/มะเร็งตับ เผยผลศึกษาเปรียบเทียบยาสูตรเก่า ช่วยประหยัดงบฯ กว่า 56 ล้านบาท
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบเพิ่มยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Direct Acting Antiviral : HCV DAA ) ยาชนิดนี้ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ทุกสายพันธุ์ มีประสิทธิผลการรักษาที่ดีและประหยัดงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาในรูปแบบเดิม และคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติได้มีมติบรรจุเข้ารายการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว เพื่อให้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์การรักษา
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การจ่ายชดเชยค่าบริการ ตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อรองรับตามแนวทางการตรวจคัดกรองและรักษาไวรัสตับอักเสบซีฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2564 ที่กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยค่าบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการใน 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ 2. ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ที่มารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยบริการในการจัดบริการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี
“อยากจะสื่อสารไปถึงประชาชน 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก ทุกคนที่เคยตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และยังไม่ได้รับการรักษา ให้เข้าไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางเข้ารับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ กลุ่มที่ 2 ผู้มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดที่ยังไม่เคยตรวจคัดกรองมาก่อน ให้เข้าไปติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจคัดกรองตามขั้นตอน หากรู้ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะได้เข้าสู่การรักษาให้ทันท่วงที ลดโอกาสการเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ซึ่งการตรวจคัดกรองสามารถทำได้โดยโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ขอให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ได้ทำความเข้าใจเพื่อจัดบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน” นายนิมิตร์ กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบซีนับเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพของคนไทย เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนี้ในระยะต้นจะไม่มีอาการใด ๆ แต่จะปรากฏอาการต่อเมื่อภาวะโรคลุกลามแล้ว เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับตามมา ดังนั้น กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนี้ ควรได้รับการตรวจคัดกรองและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ทั้งนี้ ในอดีตการรักษาไวรัสตับอักเสบซีการให้ยารักษาต้องตรงตามสายพันธุ์ ทำให้ต้องมีขั้นตอนการตรวจรักษาที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองยังไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้จำนวนไม่น้อยเกิดภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น เมื่อมียารักษาไวรัสตับอักเสบซีใหม่ที่มีประสิทธิผลที่ดี และได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาพร้อมให้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อค้นหาผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงก่อนที่ภาวะโรคจะลุกลามรุนแรง
นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมี 3 ขั้นตอน คือ 1. การตรวจคัดกรองด้วยการตรวจ anti-HCV โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อาทิ ผู้ติดยาเสพติดโดยการฉีด ผู้ป่วยที่เคยได้รับเลือด เป็นต้น 2. การตรวจยืนยันว่ามีการติดเชื้อจริงโดยการวัดปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดด้วยวิธี HCV RNA ถ้าการตรวจคัดกรองด้วย anti-HCV ให้ผลบวก และ 3. กรณีมีข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยา จะได้รับการตรวจประเมินการทำงานของตับและความยืดหยุ่นของตับก่อนรับยา โดยในอดีตจะใช้เทคโนโลยีไฟโบสแกน (Fibroscan) และต้องตรวจสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี หรือ Genotype โดยทั้ง 2 รายการนี้ในปัจจุบันความจำเป็นการตรวจลดลงเนื่องจากมียารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ได้ผลทุกสายพันธุ์ ทำให้การรักษาผู้ป่วยตับอักเสบซีมีความสะดวกและเข้าถึงมากขึ้น
“ด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซีใหม่นี้ อายุรแพทย์สามารถให้ยารักษากับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในระยะต้นได้ ไม่จำเป็นต้องส่งต่ออายุรแพทย์โรคตับที่ปัจจุบันมีจำนวนไม่มาก เป็นการกระจายภาระงานเพื่อให้อายุรแพทย์โรคตับดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรครุนแรง ทั้งนี้ เป้าหมายของการรักษาและควบคุมโรคนี้มีแนวทางดำเนินการเพื่อกำจัดไวรัสตับอักเสบซีให้หมดจากประเทศไทยในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก” นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการปรับรายการยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ จากผลการศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่เปรียบเทียบงบประมาณกับการใช้ยารักษาสูตรยาปัจจุบัน ทั้งในส่วนของค่ายาและค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีผู้ป่วยจำนวน 4,000 ราย พบว่า การใช้ยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ สามารถประหยัดค่ายาได้ 45.47 ล้านบาท ขณะที่ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการประหยัดได้ 11.12 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณที่ประหยัดได้ถึง 56.59 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้สามารถนำมาเพิ่มการดูแลและเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้มีการจัดเตรียมระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการดูแลแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง