กรมวิทย์มุ่งมั่นเป็น 1 ใน 3 ภูมิภาคเอเชีย ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา  ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   จ.นนทบุรี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครบรอบ 79 ปี    โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธี และมีคณะผู้บริหาร  บุคลากรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งจากส่วนกลางและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งอดีตผู้บริหารและข้าราชการ เข้าร่วมงาน มีพิธีทำบุญและถวายสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น  คนดีศรีสาธารณสุข และบุคลากรดีเด่นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2563 

          นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ตลอดระยะเวลา 79 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าทั้งในเชิงภารกิจและโครงสร้าง อีกทั้งยังคงเป็นเสาหลักทางด้านห้องปฏิบัติการอ้างอิงในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ดูแลกำกับคุณภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายและจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่ทำให้โลกได้เห็นพลังความร่วมมือของคนไทยช่วยเหลือแบ่งปัน การปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย    บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถ มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่เข้มแข็ง ทำให้ประสบความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ สำหรับบทบาทของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างสถานการณ์โรคโควิด-19 มีผลงานสำคัญ อาทิ การพัฒนาวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Real-Time  RT-PCR, การพัฒนาห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจเชื้อโควิด-19, การพัฒนาวิธีตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างน้ำลาย และการตรวจแบบรวมตัวอย่าง, การพัฒนาชุดตรวจแอนติบอดีเชื้อโควิด-19, การตรวจสอบและรับรองรุ่นการผลิตวัคซีน CoronaVac ของบริษัท ซิโนแวค และวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า, การรับรองวัคซีนโควิด-19  ทั้งที่นำเข้าและผลิตในประเทศ, การพัฒนาวิธีตรวจการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในอาหารและบรรจุภัณฑ์ ในส่วนนโยบายสำคัญของรัฐบาลเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ กรมได้พัฒนาการตรวจวิเคราะห์หาสารสำคัญในพืชกัญชา สารสกัดกัญชา และผลิตภัณฑ์ยาน้ำมันกัญชา รวมทั้งพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายสำหรับตรวจสอบผลิตภัณฑ์กัญชาเบื้องต้นว่ามีส่วนผสมของสารกลุ่มสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในพืชกัญชา ได้แก่ THC CBD และ CBN อยู่ในผลิตภัณฑ์หรือไม่ 

          นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ตรวจคัดกรองโรคกลุ่มอาการดาวน์ตรวจคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (โรคเอ๋อ) โรคธาลัสซีเมีย เอชไอวี วัณโรค ตรวจยีนป้องกันการแพ้ยา และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสูงขึ้นตามบทบาท อสม.หมอประจำบ้านของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการจัดอบรม อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนให้ตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและคนในชุมชน และสนับสนุนองค์ความรู้และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs/OTOP ด้านอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพร ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่ Smart Product เป็นต้น

          “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชีย ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยนำมาตรฐานสากลทั้งด้านการบริหารจัดการ ISO 9001 : 2015 และด้านระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ประยุกต์ใช้ร่วมกับเกณฑ์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพและคุณธรรมอย่างต่อเนื่องสนับสนุนการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพประชาชนด้วยองค์ความรู้ และข้อมูลที่ตอบสนองสถานการณ์อย่างทันการ จากห้องปฏิบัติการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ห้องปฏิบัติการอ้างอิง และศูนย์กลางข้อมูลอ้างอิงและสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว