องค์กรระดับโลกยืนยันอาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19

โควิด-19 อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอาหารการกิน มีข้อมูลจากงานวิจัย รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมายืนยันว่า โควิด-19 ไม่ติดต่อทางอาหารได้อย่างแน่นอน
     ในสถานการณ์โควิดที่ทุกคนต่างต้องระมัดระวังตัวเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อไวรัสร้ายนี้ ความปกติใหม่ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ กลายเป็นเรื่องที่คุ้นชินไปแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เปลี่ยนไปมาก คนหันมาทำอาหารทานเองที่บ้าน ซื้ออาหารตุนไว้สำหรับคนในครอบครัว แน่นอนว่าความใส่ใจเลือกซื้ออาหารก็เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย และอาจมีข้อสงสัยว่าหากไปเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อ อย่างเช่นในตลาดสดจะปลอดภัยหรือไม่
     เรื่องนี้ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจก่อนจะกังวลจนเกินไป เพราะทุกหน่วยงานทั้งองค์กรสากล และแพทย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานภาครัฐของไทย ต่างบอกตรงกันว่า “โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด” ที่สำคัญพวก “เนื้อไก่-หมู-เป็ด-กุ้ง-ปลา ปลอดภัยไม่นำโรคโควิด-19”
     การันตีจากองค์กรระดับโลกอย่าง WHO FAO ที่ยืนยันว่า อาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ในกรณีที่เนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อโควิดจากผู้ป่วยก็มีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคได้ เพราะโควิดเป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่าย ปริมาณของเชื้อไวรัสจึงไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรค แนะผู้บริโภคควรทานเนื้อสัตว์ปรุงสุกเท่านั้น เพราะเชื้อโควิดสามารถทำลายได้ด้วยความร้อน
     สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ที่ว่า โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางระบบทางเดินอาหารและทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด ไม่ใช่โรคติดต่อทางการรับประทานอาหารเหมือนอย่างโรคไวรัสตับอักเสบ A โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส
     ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การันตีอีกเสียงว่า สัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่ เป็ด งานวิจัยพบว่าไม่สามารถติดโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน ประชาชนจึงสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่ต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด ไม่แนะนำให้ทานอาหารดิบๆสุกๆเด็ดขาด เพราะอาหารที่สุกความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด-19
     ส่วน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า ผู้บริโภคสามารถทานเนื้อสัตว์ได้ปกติ โดยแนะนำให้ปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และก่อนนำมาปรุงสุกควรล้างให้สะอาด โดยเฉพาะภายนอกบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาเก็บหรือเตรียมปรุง การปรุงสุกต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 5 นาที จะเป็นการทำลายเชื้อโรคต่าง ๆรวมถึงโควิด-19 ด้วย ย้ำว่าควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทั้งก่อนและหลังปรุง หรือมีการหยิบจับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูกและตา เพื่อสุขภาพที่ดี
     ขณะที่กรมปศุสัตว์ ที่ดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ก็ให้ความมั่นใจเนื้อสัตว์ปลอดเชื้อโควิด-19 จากผลเฝ้าระวังเชิงรุกในทุกพื้นที่ ด้วยการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ในสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศมาทำการตรวจสอบ จำนวน 2,251 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ากรมปศุสัตว์ทำการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ฟาร์มจนไปถึงสถานที่จำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค ทั้งหมู ไก่ เป็ด ไข่ เนื้อโค และแนะนำให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตมาตรฐานได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เช่น ร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
     จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าโรคโควิด-19 ติดต่อกันทางการรับประทานอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหาร คนซื้ออาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารทุกประเภท ไม่จำเป็นต้องเช็ดถูทำความสะอาดอาหารและบรรจุภัณฑ์ หรือสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคบนอาหารและบรรจุภัณฑ์ เพียงแค่ล้างอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ด้วยน้ำ ก่อนนำมาทำเป็นอาหาร และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร เพียงแค่เน้นสุขอนามัยพื้นฐาน กินร้อน เลี่ยงอาหารดิบ เท่านี้ก็ปลอดภัยปลอดโรคแล้ว