ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจของ Semaglutide ลดได้ทั้ง CV events และ Diabetes risk

ข้อมูลใหม่จาก 2 การศึกษาที่เป็นผลวิเคราะห์เป้าประสงค์รอง (secondary analysis) ของการศึกษาหลักที่สำคัญการศึกษาหนึ่งของยาฉีด semaglutide ที่มีชื่อว่า SELECT trial แสดงให้เห็นว่า semaglutide สามารถลดอุบัติการณ์ทางระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular events หรือ CV events) ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าคนไข้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อเริ่มต้นการศึกษาหรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างการศึกษาเป็นอย่างไรก็ตามที ขณะเดียวกันยาฉีด semaglutide ยังสามารถลดความเสี่ยงของการพัฒนาไปสู่การเป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย


 


                การศึกษาแรกดำเนินการโดย นายแพทย์ Steven Emanuel Kahn ศาสตราจารย์ทางการแพทย์ด้านระบบต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม (Division of Metabolism, Endocrinology and Nutrition, Department of Medicine, VA Puget Sound Health Care System and University of Washington เมือง Seattle มลรัฐ Washington สหรัฐอเมริกา) และคณะซึ่งได้รับการเผยแพร่ทาง online ของวารสาร Diabetes Care เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 และได้รับการนำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 84 ของ American Diabetes Association (ADA) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2567 ในเมือง Orlando มลรัฐ Florida สหรัฐอเมริกาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่ายาฉีด semaglutide สามารถชะลอการพัฒนาไปสู่การเป็นเบาหวานได้หรือไม่ในคนไข้ที่เป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว (มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบแบบมีอาการ) และมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน (มี body mass index หรือ BMI ตั้งแต่ 27 kg/mขึ้นไป) แต่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน


                ใน prespecified secondary analysis ของ SELECT trial ศาสตราจารย์นายแพทย์ Kahn และคณะติดตามผู้ป่วย จำนวนทั้งสิ้น 17,604 คน ที่ถูกสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจำนวน 8,803 คน ได้รับ semaglutide 2.4 mg ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) สัปดาห์ละครั้ง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 8,801 คนได้รับการฉีด placebo เข้าชั้นใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้งเช่นกันเป็นเวลา 156 สัปดาห์ หรือ 3 ปี โดยเมื่อเริ่มต้นการศึกษา 33.5% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ร่วมอยู่ใน SELECT trial มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ คือมีระดับ HbA1cต่ำกว่า 5.7%, ราวๆ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในระยะก่อนเป็นเบาหวาน (pre-diabetes) คือมีระดับ HbA1c อยู่ที่ 5.7% ไปจนถึงต่ำกว่า 6% ส่วนผู้ป่วยที่เหลือมีระดับ HbA1cอยู่ที่ 6% ไปจนถึงต่ำกว่า 6.5%


           ผลการศึกษาหลังจากติดตามผู้ป่วยไป 3 ปี พบว่า 69.5% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติเทียบกับ 35.8% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .0001) ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติเมื่อเริ่มต้นการศึกษา หลังจากติดตามไป 3 ปี พบว่าผู้ป่วย 9 คน (0.5%) จากจำนวนทั้งสิ้น 1,676 คน ที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง มีการพัฒนาไปเป็นเบาหวานเทียบกับผู้ป่วย 18  คนจากจำนวนทั้งสิ้น 1,690 คนที่ได้รับ placebo แล้วมีการพัฒนาไปเป็นเบาหวาน ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ระยะก่อนเป็นเบาหวานเมื่อเริ่มต้นการศึกษา หลังจากติดตามไป 3 ปี พบว่า 0.8% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีดฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง มีการพัฒนาไปเป็นเบาหวานเทียบกับ 3.5% ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ที่ได้รับ placebo แล้วมีการพัฒนาไปเป็นเบาหวานสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 6% ขึ้นไปจนถึงต่ำกว่า 6.5% เมื่อเริ่มต้นการศึกษาหลังจากติดตามไป 3 ปีพบว่า 3.5% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีดsemaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้งมีการพัฒนาไปเป็นเบาหวานเทียบกับ 17% ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ที่ได้รับ placebo แล้วมีการพัฒนาไปเป็นเบาหวาน


                ศาสตราจารย์นายแพทย์ Kahn กล่าวว่าโดยรวมแล้วยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง ช่วย improve glycemic control ในคนที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดอุบัติการณ์ทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ดี อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้งจะกลับไปมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ แต่ยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง ไม่ได้ชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น โดยหลังจาก 20 สัปดาห์พบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นพอๆกันทั้งในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีดsemaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้งและในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo เพียงแต่ว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง ดูจะมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดที่ค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo โดยมีอัตราของ glycemic deterioration มากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเมื่อเริ่มต้นการศึกษา ทั้งนี้น่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มี residual beta-function น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ


พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ Kahn ยังกล่าวยอมรับเกี่ยวกับข้อจำกัดของการศึกษานี้ของเขาและคณะว่าคณะผู้วิจัยไม่ได้ประเมินในเรื่อง insulin sensitivity หรือเรื่อง beta-cell function ของคนไข้

ส่วนการศึกษาที่ 2 ดำเนินการโดยแพทย์หญิง Ildiko Lingvay ศาสตราจารย์ทางด้านอายุรศาสตร์ (Department of Internal Medicine/Endocrinology and Peter O’Donnell Jr. School of Public Health, University of Texas Southwestern Medical Center เมือง Dallas มลรัฐ Texas สหรัฐอเมริกา) และคณะซึ่งได้รับการเผยแพร่ทาง online ของวารสาร Diabetes Care เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 เช่นกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่าประโยชน์ในการลด cardiovascular events หรือ CV events ของยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย เมื่อเริ่มต้นการศึกษาหรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยระหว่างการศึกษาหรือไม่อย่างไร


                ใน prespecified analysis ของ SELECT trial แพทย์หญิง Ildiko Lingvay และคณะนำเอาข้อมูลของผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 17,604 คนใน SELECT trial ที่ถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มหนึ่งได้รับยา semaglutide 2.4 mg ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับ placebo ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้งเช่นกัน มาวิเคราะห์ด้วย intention-to-treat principle with Cox proportional hazards ทั้งในแง่ major adverse CV event หรือ MACE ได้แก่ cardiovascular mortality, nonfatal myocardial infarction หรือ stroke และในแง่ individual components ของ MACE หรือ expanded MACE ได้แก่ cardiovascular mortality, nonfatal myocardial infarction, or stroke; coronary revascularization; or hospitalization for unstable angina),  heart failure composite (heart failure hospitalization or urgent medical visit or cardiovascular mortality), coronary revascularization และ all-cause mortality ตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย เมื่อเริ่มต้นการศึกษา (baseline HbA1c) และตามระดับการเปลี่ยนของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยจากเมื่อเริ่มต้นการศึกษาไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 ของการศึกษา


                เมื่อเริ่มต้นการศึกษาผู้ป่วยทั้งหมด 17,604 คนซึ่งมีอายุเฉลี่ย 61.6 ปี และส่วนใหญ่ 72.3% เป็นผู้หญิงมีระดับน้ำตาลในเลือดดังต่อไปนี้คือ 33.5% มี baseline HbA1c ต่ำกว่า 5.7% (normoglycemia), 34.6% มี baseline HbA1cอยู่ที่ 5.7% ไปจนถึง 5.9% (low-range prediabetes) และ 31.9% มีระดับ baseline HbA1cตั้งแต่ 6.0% ไปจนถึง 6.4% (high-range prediabetes) ส่วนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยจากเมื่อเริ่มต้นการศึกษาไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่มีระดับ HbA1c ลดลงมากกว่า -3.0, กลุ่มที่มีระดับ HbA1cอยู่ที่ -3.0 ไปจนถึง 0.3 และกลุ่มที่มีระดับ HbA1c มากกว่า 0.3


                ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้ง มีอุบัติการณ์ของ MACE และ expanded MACE ลดลงได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อเริ่มต้นการศึกษาเป็นอย่างไรก็ตามที และไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยจากเมื่อเริ่มต้นการศึกษาไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 เป็นอย่างไรก็ตามทีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่าแม้แต่ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลปกติเมื่อเริ่มต้นการศึกษาหรือผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลในเลือดจากเมื่อเริ่มต้นการศึกษาไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 ไม่ได้ดีขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากยาฉีดsemaglutide 2.4 mg ในการลดความเสี่ยงของ CV events ไม่ว่าจะเป็น MACE หรือ expanded MACE    

           นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่น่าสนใจของยา semaglutide 2.4 mg จากอีก 1 การศึกษาเกี่ยวกับผลการลดน้ำหนักในระยะยาวของ semaglutide 2.4 mg ซึ่งดำเนินการโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง Donna H. Ryan (Pennington Biomedical Research Center เมือง Baton Rouge มลรัฐ Louisiana สหรัฐอเมริกา) และคณะที่ได้รับการเผยแพร่ทาง online ของวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 และได้รับการนำเสนอในการประชุมประจำปีครั้งที่ 31 ของ European Congress on Obesity (ECO) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2567 ในเมือง Venice ของอิตาลี


                การศึกษาดังกล่าวของศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง Ryan และคณะ เป็น prespecified analysis ของ SELECT trial เช่นกัน โดยเน้นที่การประเมินการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่อง body weight, waist circumference และ waist-to-height ratio ที่ 2 ปี, 3 และที่ 4 ปีรวมถึงการประเมินสัดส่วนของผู้ป่วยที่มี BMI category เปลี่ยนแปลงไปที่ 2 ปีด้วยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg สัปดาห์ละครั้งและกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด placebo สัปดาห์ละครั้งเช่นกัน


                ผลการศึกษาที่ 4 ปี พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg มีน้ำหนักลดลง 10.2% เทียบกับน้ำหนักที่ลดลง 1.5% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.0001) ขณะที่ผลการศึกษา 2 ปี พบว่า 67.8% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg มีน้ำหนักลดลง 5%, 44.2% มีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 10%, 22.9% มีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 15%, 11% มีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 20% และ 4.9% มีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 25%


                ขณะเดียวกันที่ 4 ปี พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg มี waist circumference ลดลง 7.7 เซนติเมตร เทียบกับที่ลดลง 1.3 เซนติเมตร ของกลุ่มที่ได้รับ placebo ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกเช่นกัน (p <.0001) และมี waist-to-hip ratio ที่ลดลงถึง 6.9% สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg เทียบกับที่ลดลง 1% ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo


                พร้อมกันนี้ที่ 2 ปี ยังพบว่า 12% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg มี BMI ลดลงไปอยู่ที่น้อยกว่า 25 kg/mเทียบกับ 1.2% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ placebo และมี BMI ลดลงไปอยู่ที่น้อยกว่า 25 kg/mโดยในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด semaglutide 2.4 mg มีสัดส่วนของคนที่เป็นโรคอ้วน (มี BMI 30 kg/m2) ลดจาก 71% เมื่อเริ่มต้นการศึกษาลงไปอยู่ที่ 43.3% ที่ 2 ปี

แหล่งที่มาของข้อมูล : www.medscape.com, www.healio.com, https://diabetesjournals.org, www.utsouthwestern.edu, www.ncbi.nlm.nih.gov, www.nature.com, www.nejm.org, https://docwirenews.com, www.adameetingnews.org