ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในวันหนึ่ง ร่างกายของเรา ๆ จะต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วย ซึ่งอย่างน้อยก็โชคดีที่หลาย ๆ อาการมักมีสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างชัดเจน เพื่อแจ้งให้เรารีบรักษาหรือดูแลตัวเองโดยด่วน
ทว่าก็ไม่ใช่ทุกโรคหรืออาการป่วย ที่จะส่งสัญญาณได้ชัดเจนและทันท่วงทีต่อการรักษา โดยเฉพาะหนึ่งในอาการที่ทางการแพทย์ยกให้เป็น ‘ฆาตกรเงียบ’ อย่าง “โรคไต” ทั้ง 2 ชนิดอาการที่พบได้มากสุด คือ ‘ไตวายเฉียบพลัน’ และ ‘ไตวายเรื้อรัง’ ที่กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว ประสิทธิภาพของไตก็อาจถดถอยไปมากกว่า 70% จนส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างแก้ไขคืนมาไม่ได้
ด้วยความเป็นอวัยวะสำคัญที่แบกรับหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย ทำให้เมื่อไตเกิดปัญหา ประสิทธิภาพในการจัดการกับของเสียจึงจะลดลง โดยที่เห็นชัดที่สุดคงไม่พ้นของเหลวที่ถูกขับออกมา อย่าง ‘ปัสสาวะ’ ไม่ว่าจะปริมาณที่น้อยลง หรือสีที่ผิดปกติ แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะนี้ ก็นับเป็นจุดสังเกตบ่งบอกอาการของโรคไตได้ดีที่สุดเช่นกัน
อย่างแรกคือปริมาณปัสสาวะที่น้อยหรือมีสีผิดปกติ มีสีน้ำล้างเนื้อ คืออาการเริ่มแรกของ “โรคไตวายเฉียบพลัน” มักตรวจพบพร้อมกับค่าความดันโลหิตที่สูงผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการร่วมคือเหนื่อยง่าย รู้สึกหวิว ๆ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีอาการบวมน้ำหรือขาดน้ำ-อย่างใดอย่างหนึ่ง มักมีสาเหตุมาจากการเกิดภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดปริมาณมาก, มีการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง, ได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา จนทำให้ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์
อย่างที่สองคือปัสสาวะที่น้อยมาก แต่ไม่มีความผิดปกติ ยกเว้นถ้าตรวจพบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาด้วย คือสัญญาณของ “โรคไตวายเรื้อรัง” สาเหตุของโรคเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง หรือเก๊าท์ ความน่ากลัวของโรคนี้คืออาการที่ไม่แสดงความผิดปกติจนกว่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของคนปกติ ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการเพลีย เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ตัวบวม กดบุ๋ม คันตามตัว ซึ่งหากการทำงานของไตลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้แสดงออกมาชัดเจนทุกราย พร้อม ๆ กับเนื้อไตที่ถูกทำลายไปทีละน้อยเป็นเวลาแรมเดือน แรมปี
นายแพทย์น๊อต เตชะวัฒนวรรณา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะเริ่มแรก ในตอนกลางคืนจะปัสสาวะบ่อยและมีสีจาง จนที่สุดเมื่อการทำงานของไตเสื่อมลงหรือไตวาย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยมาก ซึ่งหากการทำงานของไตลดเหลือเพียงร้อยละ 25 ผู้ป่วยจะมีอาการภายนอกให้เห็นคือ ผิวหนังซีด แห้งคัน มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย เป็นแผลหายช้า หรืออาจมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ บางรายอาจซูบผอมเนื่องจากน้ำหนักที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามโรคไตบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยตัวบวม-ขาบวม ร่วมกับมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
ความเสียหายที่เกิดกับผู้ป่วยไตวายจะมีขึ้นทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะระบบทางเดินอาหาร, ระบบกระดูกที่ไตสูญเสียหน้าที่สังเคราะห์วิตามินดี มีผลให้แคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย, ภูมิต้านทานโรคที่ลดต่ำลง เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งอาการบวมจากโรคไตยังส่งผลให้ระบบหัวใจทำงานไม่ไหว เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หรือฮอร์โมนทำงานผิดปกติหลายด้าน จนส่งผลถึงการผลิตฮอร์โมนไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทำให้โลหิตจาง การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด และมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวได้ง่าย
“โรคไตวายยังส่งผลต่อระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้อ ที่จะเกิดอาการปลายประสาทเสื่อมกับผู้ป่วย ทำให้มือเท้าชา กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนแรง เป็นตะคริว และยังทำให้ขาดสมาธิ ไม่สามารถคิดและจดจำได้เหมือนปกติ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็อาจมีอาการชักหมดสติ ...หรือจนถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ต่างอะไรจากการมี ‘ฆาตกรเงียบ’ อยู่ในร่างกาย”
นอกเหนือจากการสังเกตความผิดปกติจากปัสสาวะแล้ว การวินิจฉัยโรคไตในปัจจุบันยังมีการพัฒนา จนตรวจสอบได้ละเอียด รู้ได้เร็ว และช่วยให้การรักษาเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เริ่มที่
- วิธีการตรวจปัสสาวะ หากปัสสาวะจะมีโปรตีนไข่ขาวและเม็ดเลือดแดงปะปนมา คือการแสดงถึงภาวะที่ผิดปกติของไต
- วิธีการตรวจเลือด ซึ่งหากไตมีภาวะผิดปกติ จะพบปริมาณของไนโตรเจน กรดยูริก (Blood Nitrogen Urea: BUN) และครีเอตินิน (Creatinine: Cr) ที่เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อ ตกค้างในเลือดสูงกว่าปกติ จากนั้นจึงนำเลือดที่ได้มาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไต (Glomerular Filtration Rate: GFR) ต่อไป
- วิธีการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบได้ทันทีหากเกิดความผิดปกติขึ้นที่ไต หรือระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคไตแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะ และอาการบ่งบอกที่แตกต่างกันออกไป แต่กับโรคอย่างไตวายเรื้อรังนั้น ลักษณะอาการจะอยู่ในกลุ่มที่ซ่อนเร้น ค่อย ๆ กำเริบโดยไม่แสดงอาการ บางครั้งแฝงมากับโรคอื่น บางครั้งตรวจพบได้โดยบังเอิญ วิธีการที่จะรู้ทันถึงตัวโรคได้ มีแค่การหมั่นสังเกตอาการ และพบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้โรคร้ายนี้กัดกินเนื้อไต ...จนสายเกินจะแก้
พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมตรวจโรคไตอย่างละเอียด กับ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ Website: www.praram9.com / FB: Praram 9 hospital / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital หรือโทร. 1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital