ชีวิตใหม่ไร้พุง...มากกว่าความมั่นใจคือสุขภาพดี

 พญ.ขวัญนรา  เกตุวงศ์
 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์

คุณรู้หรือไม่ว่า โรคอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่ง เป็นโรคเหมือนกับโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือโรคอื่น ๆ แต่ที่น่าเห็นใจ คือ คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังไม่เห็นว่าผู้ป่วยโรคอ้วนเป็นโรค ดังนั้น เราจะมารู้จักกับโรคอ้วนกันค่ะ
          โรคอ้วน หมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับในคนเอเชียนั้น เราจะถือว่าอ้วนเมื่อมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 ขึ้นไป และถ้าสูงกว่า 30 จะถือว่าเป็นโรคอ้วนอันตราย โดยค่าดัชนีมวลกาย หรือบีเอ็มไอ สามารถคํานวณได้จากอินเทอร์เน็ต โรคที่สัมพันธ์กับความอ้วน ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ  โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เสี่ยงต่อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย อัมพฤกษ์-อัมพาต และอาจเสียชีวิตได้ โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุก ๆ ค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่ง จะทําให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 8-10 ปีเทียบกับคนน้ำหนักปกติ
          ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากถึงประมาณ 9% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุนั้นมาจากลักษณะการใช้ชีวิตที่มีการขยับตัวน้อย ไม่ค่อยได้ออกกําลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง สำหรับการรักษาโรคอ้วน ได้แก่ การคุมอาหาร โดยเน้นการรับประทานโปรตีนเป็นหลัก หลีกเลี่ยง แป้ง น้ำตาล น้ำหวาน ของทอดและของมัน การออกกําลังกายแบบการ์ดมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการเดินให้เกิน 10,000 ก้าวต่อวัน  การใช้ยาลดน้ำหนักภายใต้การดูแลของแพทย์ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนอันตรายนั้น จะมีฮอร์โมน สารเคมี และระบบการควบคุมความหิวอิ่มในร่างกายแตกต่างจากคนน้ำหนักปกติ  ทําให้การลดน้ำหนักด้วยการปรับลักษณะการใช้ชีวิต เช่น การออกกําลังกายและคุมอาหาร มีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 3% เท่านั้น สำเร็จในที่นี้หมายถึง คนที่น้ำหนัก 150 กิโลกรัม จะลดลงเหลือ 75 กิโลกรัม ได้ในระยะเวลา 1 ปีนั้น ทําได้ยาก เพราะน้ำหนักมาก หัวเข่ามีปัญหาไม่สามารถออกกําลังกายหนัก ๆได้ แค่เดินก็เหนื่อยแล้ว และระบบควบคุมความหิวอิ่มของร่างกาย เป็นต้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาชัดเจนว่า คนที่เป็นโรคอ้วนอันตรายที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 32.5 ขึ้นไป ร่วมกับมีโรคประจําตัว หรือผู้ที่ไม่มีโรคประจําตัว แต่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป ที่ได้พยายามออกกําลังกายและคุมอาหารแล้ว แต่ว่าน้ำหนักไม่ลดลงหรือลงเพียงเล็กน้อย จะสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินลงได้ 50-60% จากการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนอันตราย การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนอันตราย เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร และ/หรือลดการดูดซึมสารอาหาร และยังมีการตัดกระเพาะอาหารส่วนที่คอยสร้างฮอร์โมนหิวออกไปด้วย ทําให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง โดยที่ไม่รู้สึกหิวหรือรู้สึกหิวน้อยลง ทําให้น้ำหนักลดลงได้ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็กและฟื้นตัวไว
          อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดก็ต้องอาศัยนิสัยของผู้ป่วยในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกําลังกายเป็นประจํา เพื่อให้น้ำหนักลดลงได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นน้ำหนักของคนปกติและสุขภาพดี   โดยการผ่าตัดจะสามารถรักษาโรคร่วมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น ทําให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหยุดยาโรคประจําตัวหรือลดยาที่รับประทานลงได้  สุดท้ายนี้การเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกําลังกายเป็นประจําและการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลดน้ำหนัก และทําให้มีสุขภาพดีแบบยั่งยืน