24 มีนาคม...วันวัณโรคโลก (World TB Day)


วันวัณโรคโลก ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก
วัณโรคนับเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนวัณโรคเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยในเวลาต่อมาก็จะเบื่ออาหารจนร่างกายผ่ายผอมจนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
วันวัณโรคโลก ประวัติเป็นมาอย่างไร
ทั้งนี้ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2425 ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ประกาศการค้นพบสาเหตุโรควัณโรค คือ เชื้อแบคทีเรีย Tubercle bacillus เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นวัณโรคแพร่กระจายทั่วยุโรปและอเมริกา และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 7 ของประชากร การค้นพบของเขาจึงช่วยเบิกทางการวิเคราะห์คิดค้นวิธีรักษาวัณโรค ต่อมาในปี ค.ศ.1982 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การประกาศของเขา สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD : International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) เสนอให้กำหนด 24 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันวัณโรคสากล” (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่า วัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตกว่า 1.7 ล้านคน/ปี และร่วมกันต่อต้านวัณโรค องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ IUATLD และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญและรณรงค์ป้องกันร่วมกันต่อต้านวัณโรค
วัณโรค อันตรายไหม ?
โรควัณโรค หรือ TB เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีความชุกของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
อาการของผู้ป่วยวัณโรค
• ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
• เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
• หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก
• เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหารด้วย
• อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
• ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า
• ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย ทว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน
หากมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปน เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันเวลา หากวินิจฉัยว่าเป็นโรควัณโรค ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากทานยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง
- ผู้ที่ภูมิต้านทานไม่ดี หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยโรคเอดส์
- ผู้ที่ขาดสารอาหาร หรือโภชนาการไม่ดี ผอม แห้ง อ้วน น้ำหนักเกิน
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคปอด จะค่อนข้างมีความเสี่ยงมาก เพราะหากได้รับเชื้อก็อาจจะทำให้ทรุดหนักได้ทันที
- ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่แออัดหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือผู้ที่ทำงานในสายอาชีพที่กระตุ้นให้มีโอกาสเกิดวัณโรคได้ง่าย เช่น ทำเหมืองแร่ ก่อสร้าง อยู่กับหิน ฝุ่น มลพิษ เพราะการใช้ชีวิตแบบนี้จะกระตุ้นให้เกิด
วัณโรคได้ง่าย
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล หรือญาติที่ดูแลที่อาศัยร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรค
-เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี
-ผู้สูงอายุ
-ผู้ป่วยเบาหวาน
-ผู้อาศัยร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรค
-ผู้ติดเชื้อ HIV
วิธีป้องกันตัวเองจากวัณโรค
1. หากจำเป็นต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้ออกมาสูดอากาศภายนอกบ้างในระหว่างวัน
2. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์
3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
4. สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีความเสี่ยงต่อการอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV
6. ลดการดื่มแอกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอย่าใช้สารเสพติด
7. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง