ประจำเดือนแบบไหนไม่ปกติ

โดย พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์ (สูตินรีแพทย์)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ในผู้หญิงทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าประจำเดือนออกมาตามรอบเดือน ประจำเดือนนั้นไม่ใช่ของเสียอย่างที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจ แต่คือสิ่งที่เกิดจากการหลุดลอกตัวของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้สำหรับรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไม่ได้มีการฝังตัว ผนังจึงผลัดออกมาตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในแต่ละเดือน ดังนั้นประจำเดือนจึงควรออกเป็นรอบ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ในปริมาณที่เหมาะสม

ประจำเดือน ควรมีลักษณะอย่างไร?
    -  ประจำเดือนมักมีสีแดง ไม่มีลิ่มเลือดหรือชิ้นเนื้อปน บางครั้งประจำเดือนอาจออกมาพร้อมกับตกขาวจึงดูเป็นก้อนได้แต่ไม่อันตราย
    -  ประจำเดือนมักไม่เกิน 7 วันต่อรอบ และมาเพียง 1 รอบต่อเดือน แต่ในบางครั้ง หากมีรอบเดือนในช่วงต้นเดือน อาจมีรอบเดือนอีกครั้งในช่วงวันท้ายๆของเดือนได้
    -  โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละรอบประจำเดือนจะห่างกัน 28 วัน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยในแต่ละคนควรมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอในทุกๆเดือน อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆที่เริ่มมีประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจไม่สม่ำเสมอได้
    -  ปริมาณประจำเดือน ที่ปกตินั้นไม่ควรเกิน 80 ซีซี โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ซีซีต่อรอบ เทียบได้กับผ้าอนามัยประมาณ 3-4 ผืนต่อวัน

เลือดออกผิดปกติแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์
    -  เลือดออกตามรอบเดือน แต่มาปริมาณมากผิดปกติ เปลี่ยนผ้าอนามัยถี่ขึ้น ใช้ผ้าอนามัยผืนใหญ่ขึ้นหรือต้องใช้ผ้าอ้อมอนามัย มีลิ่มเลือดปน เริ่มมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม รวมถึงตรวจพบว่ามีภาวะเลือดจาง
    -  เลือดออกยาวนานขึ้น เช่น จากปกติมีรอบเดือนไม่เกิน 7 วัน แต่มียาวนานขึ้นเป็น 10 วัน
    -  มีเลือดออกกะปริบกะปรอยนอกรอบเดือน หรือมีประจำเดือนมากกว่า 1 รอบต่อเดือน
    -  เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
    -  เลือดออกหลังหมดประจำเดือน หลังหมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะค่อยๆลดลงจนหมดไป จึงไม่ควรกลับมามีประจำเดือนอีก หากมีเลือดออกจากช่องคลอดควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินทุกครั้ง
    -  ประจำเดือนไม่มาตามรอบ หรือประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน

แพทย์จะให้การรักษาอย่างไร
    -  แพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง
    -  ตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และอาจใช้การอุลตร้าซาวด์อวัยวะอุ้งเชิงกรานร่วมด้วยหากแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติ
    -  ตรวจประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ อาจจำเป็นต้องส่งตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินการตั้งครรภ์
    -  ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจใช้เครื่องมือดูดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกไปตรวจในรายที่มีความเสี่ยง

    แนะนำให้คุณสุภาพสตรีมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อประเมินทุกครั้ง หากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติที่ลักษณะต่างออกไปจากประจำเดือน หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเลือดออกผิดปกติหรือไม่ คลินิกนรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกยินดีให้คำปรึกษาค่ะ