แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำ ผู้ป่วยไต ควร “เลือก” รับประทานอาหารอย่างไร

โครงการ คุยเรื่องไขความจริง โดย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เชิญ รศ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยพร้อมแนะนำวิธีการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยไตเพื่อชะลอการเปลี่ยนถ่ายไตในตอน “อร่อยปาก ลำบากไต”

อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้ และประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยง ผู้ป่วยโรคไตมักมีความกังวลเรื่องอาหาร ว่าหากรับประทานมากเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวาย หรือหากรับประทานน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต หรือล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องอาหารมากเป็นพิเศษ เพราะต้องช่วยลดภาระหน้าที่ของไตใน การขับน้ำ ของเสีย และเกลือแร่


รศ. พญ. ปิยวรรณ แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคไตต้องเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด ดังนี้
ผักและผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ผักและผลไม้ที่มีสีเข้ม เพราะอาจจะมีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง พร้อมเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีรสชาติจืด สีสันอ่อน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เต้าหู้ ผักกาดขาว ฟัก แอปเปิ้ล และสาลี่แทน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยต้องการที่จะรับประทานผักสีเข้ม ยกตัวอย่างเช่น ผักบุ้ง จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร โดยการนำผักไปต้มในน้ำประมาณ 5 นาที เพื่อให้โพแทสเซียมที่อยู่ในผักลงไปอยู่ในน้ำ พร้อมรินน้ำที่มี เกลือแร่เหล่านั้นทิ้งไปก่อนดำเนินการประกอบอาหารขั้นต่อไป

หลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิง คืออาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ ทั้งเกลือหวาน เกลือจืด และเกลือเค็ม รวมถึงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ทั้งประเภทอาหารหมักดอง อย่าง กุนเชียง หมูยอ รวมถึงไข่แดง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กาแฟ



ผู้ป่วยโรคไตสามารถกินอาหารในแนวทางคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb) ได้หรือไม่
นี่คือหนึ่งในคำถามที่มีผู้ป่วยกลุ่มวัยรุ่นถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดย รศ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม ได้ให้คำตอบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในช่วงก่อนบำบัดทดแทนไต หรือการฟอกไต ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ (Low Protein) ดังนั้นการดูแลสุขภาพและร่างกายโดยเลือกรับประทานอาหารในสูตรโปรตีนสูง (High Protein) คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb) จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคนี้เป็นอย่างยิ่ง



เทคนิคการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ
วิธีที่ผู้ป่วยโรคไตหรือทุกคนที่รักสุขภาพสามารถทำตามได้ คือการอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อสินค้า โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นหลัก คือ ปริมาณพลังงาน โปรตีน ไขมัน และเกลือแร่เมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน ทั้งนี้ หากตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยบางท่าน อาจพิจารณาตัวเลขจำนวนหน่วยบริโภคต่อผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อลดหรือปรับจำนวนอาหารให้เหมาะสมได้ แต่หากใครที่ต้องการวิธีที่ง่ายและสะดวกยิ่งกว่านั้น สามารถมองหาตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ที่เป็นการแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดหวาน มัน เค็ม ที่เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เช่นกัน
ติดตามชมคลิปเต็ม ตอน อร่อยปาก ลำบากไต ได้ที่ https://fb.watch/d2Iu20wBev/


โครงการ “คุยเรื่องไต ไขความจริง” อัพเดทข่าวสาร สาระและความรู้เกี่ยวกับโรคไต โดยทีมแพทย์ เภสัชกร และนักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่ผลัดเปลี่ยนกันมามอบสาระความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคไต


ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่านทางทางเพจ Facebook สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย - The Nephrology Society of Thailand #คุยเรื่องไตไขความจริง #สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย