รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : โลกหนึ่งเดียว กับสมดุลชีวิตที่ยั่งยืน” มุ่งเป้าให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักรู้ สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมกับใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในปีนี้ ได้กำหนดให้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : โลกหนึ่งเดียว กับสมดุลชีวิตที่ยั่งยืน” ที่เน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ กลไกทางสุขภาพ และแนวทางการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และเยาวชน ตระหนัก หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพของตนเอง สร้างสมดุล
ของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนและสัตว์ เช่น การใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร น้ำเสีย ฝุ่นควัน ขยะ หรือสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนในการจัดการปัญหา เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องดูแลสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการ
One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว โดยให้ความสำคัญกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกล่าวเปิดโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์วันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 ในไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊กกรมควบคุมโรค โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นโครงการ GREEN & CLEAN Hospital โดยให้โรงพยาบาล มีการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีสุขภาพแข็งแรง มีพลังในการให้บริการประชาชน และนโยบายการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนจนเกิดพฤติกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาขยะติดเชื้อ โดยในปี 2564 พบว่า มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ถึงร้อยละ 87 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งจากโรงพยาบาล จากการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และสถานที่พักรักษาอื่นๆ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี คือ ปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญ และกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ให้ฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 1 ใน 2 โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ต้อง เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยให้สื่อสารเตือนภัย แจ้งเหตุ การปฏิบัติตน และมาตรการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการเผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพของพวกเรา
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2565 กรมควบคุมมลพิษ ขอเชิญชวนทุกคนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของตัวเองลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จอดรถยนต์ดับเครื่องยนต์ และหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อควันดำ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย สามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Facebook Fanpage “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)”
พญ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร และประชาชนทุกคน ร่วมมือกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ด้วยการลดการสร้างขยะ เลี่ยงการรับถุงพลาสติก ลดการเผาไหม้ หยุดการเผาพื้นที่เพื่อการเกษตร ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน หันมาปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างสมดุลชีวิตที่ยั่งยืนกับคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา และของโลก ต่อไป