สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูการกลืน (COE in swallowing rehabilitation) เนื่องจากภาวะกลืนลำบากเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยหลังการเกิดความพิการหรือพยาธิสภาพของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการฟื้นฟูสภาพ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการ ในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้การฟื้นฟูการกลืนอย่างถูกต้องและได้มาตรฐานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการฟื้นฟูการกลืน มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทั้งด้านบริการและวิชาการ ในด้านวิชาการ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการ “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การฟื้นฟูเบื้องต้นด้านการกลืนสำหรับบุคลากรสาธารณสุข” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นฐานด้านการฟื้นฟูการกลืนสู่บุคลากรสาธารณสุข จาก 13 เขตบริการสุขภาพและจากภาคส่วนอื่น ๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบัน มีนักกิจกรรมบำบัด สังกัดงานกิจกรรมบำบัดทุกคนเป็นวิทยากรหลัก ร่วมด้วยทีมสหวิชาชีพของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกรุงเทพและมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นวิทยากร โดยในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมาเป็นการอบรมรุ่นที่ 10 รวมมีบุคลากรสาธารณสุขที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศแล้วกว่า 800 คน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและให้บริการฟื้นฟูการกลืนแก่ผู้รับบริการในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ 2565 นี้ ได้มีการปรับหลักสูตรเป็นการฟื้นฟูการกลืนแบบบูรณาการเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลิอดสมองระยะกลาง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการให้บริการมากยิ่งขึ้น ในส่วนวิชาการ มีการพัฒนางานวิจัยด้านการกลืนอย่างสม่ำเสมอ เช่น งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาคู่มือขุดรายการอาหารไทยสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก, การศึกษาประสิทธิผลของการกระตุ้นกลืนด้วยกระแสไฟฟ้า (การทบทวนอย่างเป็นระบบ), การพัฒนาแบบประเมินคุณภาพการกลืนสำหรับนักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวมีการเผยแพร่ผ่านทางเวปไซต์ของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ และการประชุมวิชาการต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานกิจกรรมบำบัดจึงได้พัฒนาและจัดตั้งคลินิกฟื้นฟูการกลืนขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเป็นการผสมผสานรูปแบบการฟื้นฟูการกลืนแบบมาตรฐาน (conventional swallowing therapy) กับเครื่องมือที่สมัย เช่น เครื่องกระตุ้นการกลืนด้วยกระแสไฟฟ้าและเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อการกลืน ให้บริการโดยนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมเฉพาะทาง ทั้งนี้ การจัดตั้งคลินิกฟื้นฟูการกลืนดังกล่าวนอกจากเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของการฟื้นฟูการกลืนแล้ว ยังเป็นการพัฒนารูปแบบบริการ (Model development) เพื่อเป็นต้นแบบบริการและเผยแพร่แก่หน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกกรมการแพทย์