กัญชาแมวคืออะไร ปลอดภัยกับแมวจริงหรือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สพญ. นฆรรวี แสงกลับ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กัญชาแมวคืออะไร เหมือนกับกัญชาคนหรือไม่
          กัญชาแมว หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Catnip (ชื่อวิทยาศาสตร์ Nepeta cataria) เป็นพืชตระกูลมิ้นท์ บางคนอาจจะเรียกว่าต้นหญ้าแมวก็ได้ ที่ใบและก้านของต้นกัญชาแมวจะมีสารชื่อว่า Nepetalactone ซึ่งสารตัวนี้เองที่ทำให้แมวรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุข บางทีก็ตื่นเต้นจนแสดงท่าทางแปลก ๆ จึงไม่แปลกที่เรามักเห็นแมวชอบกัดหรืองับต้นกัญชาแมวอยู่เสมอ ๆ เพราะว่ามันทำให้พวกเขารู้สึกดีนั่นเอง กัญชาแมวไม่ได้มีผลแค่เฉพาะในแมวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสัตว์ตระกูลแมวทั้งหมด เช่น เสือ สิงโต ก็สามารถฟินไปกับกัญชาแมวได้เช่นกัน
          สารออกฤทธิ์ของกัญชาแมวจะถูกปล่อยออกมาเมื่อใบหรือลำต้นของกัญชาแมวถูกบดขยี้ และจับกับต่อมรับกลิ่นของเจ้าเหมียวที่บริเวณจมูก โดยจะออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาท และกระตุ้นให้สมองเกิดอาการเคลิ้ม โดยปกติแล้วจะออกฤทธิ์ประมาณ 5-15 นาที (หรืออาจนานกว่านี้แล้วแต่ร่างกายของน้องแมวแต่ละตัว) แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ากัญชาแมวไม่ได้ส่งผลต่อน้องแมวทุกตัว โดย 1 ใน 3 ของน้องแมวอาจไม่ตอบสนองต่อกัญชาแมวเลยก็ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
          อีกเรื่องที่หลายคนอยากรู้ก็คือน้องแมวจะเสพติดกัญชาแมวไหม อันนี้ก็ต้องบอกว่าหายห่วงได้เลย เพราะจากการศึกษาพบว่าการให้กัญชาแมวเพียงแค่ทำให้ระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในน้องแมวเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยลดความเครียดในน้องแมว ไม่ได้ทำให้เสพติด และไม่ทำให้เกิดอาการลงแดงหรือหงุดหงิดเมื่อไม่ได้รับ รวมไปถึงตอนนี้การให้กัญชาแมวเองก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของน้องแมวแต่อย่างใด นอกจากนี้กัญชาแมวยังมีประโยชน์อีกอย่างคือมีฤทธิ์ไล่แมลงและไล่ยุงได้ด้วย เรียกได้ว่าถ้าใครเลี้ยงแมวก็เหมาะกับการปลูกเป็นพืชประจำบ้านได้เลย
          แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากเมื่อแมวได้รับกัญชาแมวแล้วอาจทำให้เกิดการเคลิบเคลิ้มและแสดงพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดได้ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำจากทาง PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) เป็นไกด์ไลน์คร่าว ๆ ว่าไม่ควรให้กัญชาแมวบ่อยครั้งมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) และระหว่างที่ให้ควรให้น้องแมวอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและไม่ปล่อยออกไปข้างนอกในระหว่างที่ยังมึนเมาเพื่อป้องกันอันตรายที่ไม่คาดคิดนั่นเอง


เอกสารอ้างอิง
1. Espin-Iturbe, L. T., Lopez Yanez, B. A., Carrasco Garcia, A., Canseco-Sedano, R., Vazquez-Hernandez, M., & Coria-Avila, G. A. (2017). Active and passive responses to catnip (Nepeta cataria) are affected by age, sex and early gonadectomy in male and female cats. Behav Processes, 142, 110-115.
2. Tucker, A.O., Tucker, S.S. Catnip and the catnip response. Econ Bot 42, 214–231 (1988).
3. https://theconversation.com/is-it-unethical-to-give-your-cat-catnip-107774?fbclid=IwAR2iP6VAAXRKa-Fo4KPMAux_jpppFSqmqPM-6w5VBIoWgcmAO9KKRkYPets
4. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-831/catnip?fbclid=IwAR0yxVCsRjopVHrTr7bBNwGQVRwuVDwJjt1hP0qeZlzO2jS6CHquEfyh0gc
5. https://www.petmd.com/cat/general-health/what-is-catnip?fbclid=IwAR3jGLIluXWuyQaAVAIE35TDJHEdJhCHkSMwpdYHE5Y6IXdtrQ_HJfHTChI

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/604