อยู่ ร่วม สุข เข้าใจลูก LGBTQ+

                                                                     

เมื่อลูกเป็น LGBTQ+ หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่การหาสาเหตุหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ลูกเป็น หากแต่เป็นการเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ในตัวตนของลูกและรู้ว่าสิ่งไหนที่ควรปฏิบัติต่อลูก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พ่อแม่จะไม่ตั้งคำถามว่า“ทำไมถึงเป็นแบบนี้” กับลูกหลานที่มีความหลากหลายทางเพศในครอบครัว แต่เปลี่ยนมาเป็นยอมรับ เข้าใจ ให้กำลังใจ และสนับสนุน เพราะเมื่อลูกได้รับสิ่งเหล่านี้จากพ่อแม่จะช่วยให้ลูกที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถอยู่-ร่วม-สุข ได้ในสังคม


พ่อแม่และครอบครัว เป็นความสัมพันธ์แรกที่เกิดขึ้นในชีวิตลูก ไม่เพียงแค่เลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต แต่ยังเป็นคนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกมีความมั่นคงในจิตใจ พ่อแม่เตรียมความพร้อมให้ลูกได้เผชิญโลกกว้างได้ แต่ไม่อาจควบคุมทุกอย่างในชีวิตของพวกเขาได้ พ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นใครในชีวิตลูก ระหว่างคนที่ลูกหวาดระแวง หรือ คนที่ลูกเชื่อใจ และต้องโฟกัสที่การเป็นตัวของตัวเองของลูกมากกว่าการเป็นคนดีตามอุดมคติที่สังคมตั้งขึ้น


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ซึ่งความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและเป็นความสวยงาม เขาเหล่านั้นควรได้รับการเคารพตัวตนในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ได้รับความสัมพันธ์ที่ดีจากครอบครัวและคนรอบข้าง ได้แสดงออกถึงตัวของตัวเองอย่างรู้สึกปลอดภัย รวมถึงการได้รับโอกาสเข้าถึงทรัพยากรด้านต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม


สสส. สนับสนุนให้พ่อแม่ ครอบครัว เข้าใจและยอมรับลูกหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ การส่งเสริมสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่่อาจทำได้ หากไม่มีการส่งเสริมความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองมาร่วมด้วย  สสส. สนับสนุนให้ครอบครัวเปิดใจสื่อสารและยอมรับในตัวตนของลูกหลานอย่างจริงใจ เข้าใจ ไม่ตำหนิ ไม่ตั้งคำถาม และให้การสนับสนุนพวกเขา เพื่อให้เขาเชื่อมั่นและรับรู้ได้ถึงการเป็นที่รักและต้องการของครอบครัว”นางภรณีกล่าว


3 วิธีสื่อสารให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจและยอมรับ


1. เปิดพื้นที่ให้ลูกได้แสดงออกและเป็นตัวของตัวเอง


คือ การให้เขาได้เล่น ได้ทำกิจกรรม ได้แสดงออกอย่างที่เขาเป็น โดยไม่ห้าม ไม่ตำหนิ หรือลงโทษ


2. อยู่เคียงข้างลูก


โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียน หรือถูกเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าต้องเจอปัญหาอย่างโดดเดี่ยว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว


3. สนับสนุนสิ่งที่ลูกเป็นหรือแสดงออก โดยไม่ตำหนิและไม่ตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้”


เป็นการสร้างความมั่นคงภายในจิตใจผ่านการแสดงความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นที่รัก และเป็นที่ต้องการของคนในครอบครัว


พ่อแม่และครอบครัวไม่เพียงแต่เป็นสายสัมพันธ์แรกที่ลูกมี แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ลูกเป็นตัวเองได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศอะไร เพราะหากพวกเขาได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ ครอบครัวอย่างแท้จริงและเข้าใจ ถึงแม้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสังคมมากแค่ไหน เขาจะสามารถยืนหยัดและผ่านความรู้สึกเปราะบางนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง


เพราะเราทุกคนเท่าเทียมกัน” สสส. และภาคีเครือข่ายเสริมสร้างความเข็มแข็งให้เครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ พร้อมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้รับสิทธิความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองทั้งทางสังคมและด้านสาธารณสุข มีสุขภาวะทางสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการมีชีวิตอยู่ในสังคม โดยที่ไม่ถูกตีตราว่ามีความแตกต่าง