Plant-based diet การรับประทานพืชเป็นหลักทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพและอนาคต

ทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากOurWorldInDataแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504จนถึงปี พ.ศ. 2560 ทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 87 %และแนวโน้มยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆโดยวารสารการวิจัยAnimals รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการบริโภคเนื้อสัตว์สูงถึง 100.9 กิโลกรัม/คน/ปีมากกว่าปริมาณเนื้อสัตว์ที่U.S. Department of Agricultureแนะนำให้บริโภคเกือบสองเท่า  ผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป คือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกโรคอ้วน และโรคมะเร็ง เป็นต้น


 


หมอแอมป์ -นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วนกรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เล่าให้ฟังว่า “ข้อมูลจาก The International AgencyforResearchonCancer (IARC)หรือแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO)จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูปหรือ Processed meatเช่น ไส้กรอก เบอร์เกอร์ซาลามี่ พาร์มาแฮมเบคอน กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ซึ่งมีอันตรายมากที่สุด อยู่ในกลุ่มเดียวกับสารหนู หรือ สารกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียม ส่วนเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2Aหรือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์”


เพราะในกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์จะมีการเติม ‘ไนเตรท’หรือ ‘ไนไตรท์’เพื่อถนอมอาหาร ปรุงแต่งสีและรสชาติ แต่สารนี้สามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) อย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ได้


ในเนื้อแดงเองมีสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีม (Heme Iron)ซึ่งสามารถเร่งการสร้างสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ(NOCs) ได้เช่นกัน รวมทั้งการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง ในอาหารประเภทเนื้อสเต็ก เบอร์เกอร์ หมูกระทะ สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้เช่นกัน


คุณหมอแอมป์ให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า “ควรเริ่มจากการลดการบริโภคลง หรือบริโภคแต่น้อย”


ผลจากข้อมูลนี้ทำให้กระแสการดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลักหรือ Plant-based dietกำลังขยายตัวข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดPlant-based foods ทั่วโลกในปีพ.ศ.2563 มีมูลค่า 1.3หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.9แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตจนมีมูลค่า 3.5หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570


การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความหมายกว้างกว่าการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติทั่วไป เคร่งครัดน้อยกว่าและไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพจากการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เห็ดต่างๆหลายชนิดเลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ


 


 


 “โปรตีนจากพืชดีอย่างไร ทำไมเอามาแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วยลดอัตราการก่อโรคได้มากมายโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง”คุณหมอแอมป์ชี้ให้เห็นข้อดีของการรับประทานอาหารแบบ Plant based diet


การเปลี่ยนมารับประทานอาหารแบบPlant-based diet จะช่วยลดไขมันอิ่มตัว เพิ่มใยอาหารและสารพฤกษเคมี (phytochemical)ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบเฉพาะในพืช มีการศึกษามากมายที่รับรองว่า การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีประโยชน์ต่อสุขภาพ



  • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการได้รับไขมันอิ่มตัวและระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide)จากเนื้อสัตว์น้อยลง

    • งานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารจากพืชเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์ลงในวารสาร The American Journal of Cardiologyโดยคุณหมอ Ornishผู้ก่อตั้ง PreventiveMedicineResearchInstituteคุณหมอทำการวิจัยเป็นแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomizedcontrolledtrial) โดยดำเนินการพร้อมกัน 8 แห่ง จำนวนคนเข้าร่วม 333 คน เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง การรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน (Revascularization) และ การปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ตั้งแต่การรับประทานอาหารรูปแบบมังสวิรัติที่มีใยอาหารสูง น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการจัดการกับความเครียด




หลังจากติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานอาหารจากพืชเป็นหลักควบคู่กับการออกกำลังกาย ให้ผลการรักษาที่ดีไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ผ่าตัดเปิดหลอดเลือดอุดตัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนคือ กลุ่มที่ปรับพฤติกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรักษา ซึ่งน้อยกว่าถึง 4-7 เท่า จึงเห็นได้ว่าการปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยลงได้



  • คุณหมอ Lin แพทย์ประจำ BaylorCollege of Medicineและ คุณหมอ Esselstynแพทย์ประจำ Cleveland Clinicทำการศึกษาโดยแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่รับประทาน Plant-Baseddiet เป็นเวลา 4 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทาน Plant-Based dietค่าไขมันต่างๆ ในเลือดดีขึ้น ค่าสารอักเสบ hsCRPและ IL-6 ก็ลดลง รวมถึงการทำงานของหลอดเลือดดีขึ้น (brachialarteryflow-mediatedvasodilation) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

  • ส่วนคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ก็มีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกันได้ตีพิมพ์ลงในวารสารJournal of the American College of Cardiologyปี ค.ศ. 2017 ติดตามการรับประทานอาหารของผู้คน จำนวน 209,568คน พบว่า การบริโภคพืชผักและธัญพืชไม่ขัดสี ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease)ได้ถึง 25% อีกงานวิจัยหนึ่งจากวารสาร The BMJปี ค.ศ. 2020วิจัยโดยคณะวิจัยจาก Harvard เช่นเดียวกัน ได้ติดตามการรับประทานอาหารของผู้ชาย 43,272 คน พบว่า การเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์แปรรูป 1 ส่วนบริโภคต่อวัน(85 กรัม) ให้เป็นโปรตีนจากพืช สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 17 %

  • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2วารสารCanadianJournal of Diabetesในปี ค.ศ. 2016 รวบรวมการศึกษาวิจัยการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในคนที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ทั้งหมด 13 งานวิจัย รวมจำนวนมากกว่า 60,000 คน พบว่า ทั้งการศึกษาแบบระบาดวิทยาที่เก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวนาน หรือการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomizedcontrolledtrial) ก็ชี้ให้เห็นผลไปในทิศทางเดียวกันว่า อาหารจากพืชช่วยลดความเสี่ยงของเบาหวานได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง (Fasting Plasma Glucose) การหลั่งอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin secretion index)และความไวของอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin sensitivity)


อีกงานวิจัยจาก JAMAinternalmedicineปี ค.ศ. 2019ทำการวิเคราะห์ผล 9 การศึกษาวิจัย จากคนรวมทั้งสิ้น 307,099คน การรับประทานอาหารจากพืช สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ 23 %และงานวิจัยจากวารสารInternational Journal of Medicine in Developing Countriesปี ค.ศ. 2020 ในคนจำนวน 69,213 คนจาก 5 การศึกษา พบว่า การรับประทานอาหารจากพืชช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C; HbA1C) และลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2ได้สูงถึง 57%



  • ลดความเสี่ยงโรคอ้วนช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสมจากการลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์และการรับประทานใยอาหารที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกอิ่มท้องยาวนาน มีการศึกษาในผู้สูงอายุ 9,633 คนตีพิมพ์ในวารสารEpidemiologyปี ค.ศ. 2019  โดยจัดทำเป็นคะแนนการบริโภคพืชผัก รายงานว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการบริโภคพืชผักเพิ่มขึ้น ทุก 10 คะแนน จะมีรอบเอวลดลง 2 เซนติเมตร และมีไขมันลดลง 1.1 %

  • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดการรับประทาน Plant-based diet สามารถลดการได้รับสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดง รวมทั้งพืชยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้

    • ในปี ค.ศ.2018 รายงานจาก World Cancer Research Fund (WCRF) ร่วมกับAmerican Institute for Cancer Research (AICR) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ติดตามการรับประทานอาหารในคนที่ไม่พบมะเร็งจำนวน 41,543 คน เป็นระยะเวลา 8 ปี พบว่าการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก โดยเลือกรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วผักและผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ร่วมกับลดการรับประทาน น้ำตาล ไขมัน เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งทุกชนิดลดลง 12% ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านมรวมถึงการลดการเกิด NCDs และโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งอีกหลายชนิด

    • งานวิจัยในชาวแคนาดา ปี ค.ศ. 2015 ตีพิมพ์ลงในวารสาร NutritionJournalเปรียบเทียบรูปแบบการรับประทานอาหารในคน 1,179คน การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer)45 %

    • วารสาร Scientific Reportsของ Natureได้รายงานการวิจัย การเกิดมะเร็งเต้านม เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่การรับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้สด เป็นต้น กับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักเช่นกัน แต่มักเป็นอาหารกลุ่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวแป้งที่ขัดสี น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ในผู้ที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพชี้เห็นว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ถึง 67 %เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

    • เพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในร่างกายสารพฤกษเคมีต่างๆในพืชมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเกิดสารอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs)

    • เสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ (probiotics) ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงใยอาหารช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหารป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย

    • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไตเพราะการรับประทานโปรตีนจากสัตว์มีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลงและการเกิดโรคนิ่วในไต

      • การศึกษารูปแบบการรับประทานอาหารในผู้หญิง 3,121คน ในปี ค.ศ.2012 ตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of KidneyDiseasesพบว่า กลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง ข้าวแป้งขัดสี และของหวานในปริมาณมาก มีความเสี่ยงต่อการขับโปรตีนอัลบูมินออกมาในปัสสาวะ (Microalbuminuria) สูงกว่าถึง 2.17 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ค่อยรับประทานประเภทนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานของไตที่เสื่อมถอยลง ต่อมาในปีค.ศ. 2015 วารสาร Journal of Nephrologyตีพิมพ์การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารหลัก กับโรคไตเรื้อรัง (อัตราการกรองของไต 60 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารารางเมตร) พบว่า การรับประทานโปรตีนจากพืชในปริมาณสูง ช่วยลดความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังได้ 30% ในทางกลับกันถ้าบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากกว่าโปรตีนจากพืช ประมาณ 2 เท่า จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 28 %

      • การศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 420 คน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Kidney International Reportsปี ค.ศ. 2019 พบว่า ผู้ที่รับประทานโปรตีนจากพืชในปริมาณสูงสามารถลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนทางไตได้ถึง 53 % ในขณะที่ผู้รับประทานโปรตีนจากสัตว์ในปริมาณสูง จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นอีก 6 %






 


จากงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรับประทาน Plant-based diet ต่อสุขภาพ และเพื่อให้ได้รับสารอาหาร และกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด ผู้ที่รับประทาน Plant-based diet ควรรับประทานโปรตีนจากพืชให้หลากหลายชนิด“เช่น กินข้าวคู่กับถั่ว เพราะข้าวมีกรดอะมิโนไลซีนน้อย การกินถั่วซึ่งมีไลซีนสูงก็ช่วยเสริมกันได้ และในทางตรงกันข้าม ถั่วที่มีเมไทโอนีนน้อย การกินข้าวที่มีเมไทโอนีนสูงกว่าก็ช่วยให้ได้กรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน” คุณหมอแอมป์ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย 


ดังนั้นควรเลือกรับประทาน ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ เต้าหู้ ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ดต่างๆและผักหลากชนิด เป็นต้น


นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากวิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรเพิ่มการรับประทานวิตามินบี 12 ที่มาจากแหล่งของพืช เช่น เทมเป้ สาหร่ายทะเล หรืออาหารที่มีการเติมวิตามินบี 12เช่น นมจากพืช ซีเรียลอาหารเช้าเป็นต้น


 


ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังการปนเปื้อนจากสารพิษและยาฆ่าแมลงกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้สด


1. โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) โดยใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ถึง 80-95%


2. ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน เด็ดผักออกเป็นใบ จากนั้นเปิดน้ำไหลแรงพอประมาณให้น้ำไหลผ่าน โดยวิธีนี้จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 54-63%


3. ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบ แช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 27-72 %


4. น้ำส้มสายชู โดยใช้น้ำส้มสายชู 5% 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 29-38 %


            อย่างไรก็ตาม การจะลดปริมาณสารพิษได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของผักด้วย


 


 


 


อาหารจากพืชดีต่อโลก


การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ทางสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.83 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีตลอดกระบวนการผลิต ขณะที่ผู้ที่รับประทานอาหารวีแกน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.89 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีเท่านั้น


ผลผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 60 กิโลกรัม  ขณะที่ถั่วเหลืองก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9 กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งปริมาณต่างกันถึง 60 เท่า แสดงให้เห็นว่า หากลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง จะสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้


ทรัพยากรน้ำที่ถูกใช้ในสินค้าปศุสัตว์ก็มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำสูงถึง 15,415ลิตร เนื้อหมู และเนื้อไก่ ใช้น้ำ 5,988และ 4,325ลิตรตามลำดับ ในขณะที่การผลิตพืชผัก 1 กิโลกรัม ลดการใช้ทรัพยากรน้ำลงหลายเท่า โดย ข้าวใช้น้ำ 1,673ลิตร แอปเปิ้ล 822 ลิตร และมะเขือเทศใช้น้ำเพียง 287 ลิตร เท่านั้น


จะเห็นได้ว่าการรับประทานอาหารจากพืชไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม จากการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก การใช้ที่ดินในการทำปศุสัตว์ ลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้ รวมทั้งสารเคมีและยาปฏิชีวนะที่ถูกใช้น้อยลงในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย


 


คุณหมอแอมป์อยากแนะนำให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพ ปรับการรับประทาน ลดการกินเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป “ใครลดได้ลด ใครที่ยังทำไม่ได้ ไม่เป็นไร อาจเริ่มลดจากรับประทานเป็นประจำ เป็นรับประทานนานๆ ที ส่วนใครที่ทำได้ดีแล้วหมอก็ขอชื่นชมเป็นเป็นกำลังใจให้”


 


คุณหมอแอมป์ยังได้แนะนำหลักง่ายๆ อย่าง ‘จานสุขภาพ’ ให้ทุกคนไปปรับใช้ โดย 50%หรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 25% ที่เหลือเป็นแป้งไม่ขัดสี จำพวกข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือข้าวพันธุ์ไทยอย่างข้าวสังข์หยด ที่มีกากใย โปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูงและอีก 25%เป็นโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ เนื้อปลา ไข่ขาว


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


เพราะการดูแลสุขภาพที่ดี คือการดูแลสุขภาพองค์รวม ไม่ใช่แค่เพียงปรับพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเห็นความสำคัญของทุกเรื่องรวมกัน ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ หากเราดูแลร่างกายของเราเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก็ไม่ต้องมาวิตกกังวลกับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เพราะสุขภาพคือสมบัติที่สำคัญที่สุดคุณหมอแอมป์ได้ฝากเอาไว้