โรคฝีดาษลิงกับสถานการณ์โดยรวม

โดย รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวชกรรมการกลาง และแพทย์ผู
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและรศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

ความจริงตัวโรคฝีดาษและความรู้เกี่ยวกับต่อโรคฝีดาษ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะมันเป็นโรคเก่าแต่มีการอุบัติใหม่โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสพอกซ์(Poxvirus) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษคน (smallpox หรือ ไข้ทรพิษ) โดยมีรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลองในปี พ.ศ. 2501 จึงเรียกว่า ฝีดาษลิง แต่แท้จริงแล้วสัตว์ที่เป็นรังโรคคือสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 จึงพบรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในคน
          จากปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันประมาณ 2,103คน กระจายทั่วโลกใน 42 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงในแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศสเปน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโปรตุเกส ที่มีรายงานการระบาดพบจำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 20 คน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการระบาดในขณะนี้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นในแถบอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตก โดยพบมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อประปราย รวมถึงนอกถิ่นการระบาดจากการเดินทางไปในถิ่นระบาด ซึ่งการระบาดระลอกนี้เริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยพบผู้ป่วยในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย โดยพบในกลุ่มชายรักชายซี่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการรวมตัวและมีกิจกรรมใกล้ชิดในช่วงเทศกาลไพรด์ (Pride month) ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

          รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวชกรรมการกลาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง อาการของโรคฝีดาษลิง จัดแบ่งเป็น3 ระยะ ดังนี้
          1) ระยะฟักตัว เป็นระยะที่ไวรัสทำการฟักตัวในร่างกาย โดยไม่มีอาการ และไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น โดยทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์แต่อาจยาวถึง 3 สัปดาห์ได้หลังสัมผัสเชื้อ
          2) ระยะก่อนออกผื่น เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยผู้ป่วยอาจสามารถแพร่เชื้อได้ทางละอองฝอยในระยะนี้
          3) ระยะออกผื่น หลังจากมีไข้ 1- 3 วันจะพบผื่นที่ใบหน้า ลำตัว และกระจายไปแขนขา โดยสามารถพบที่ฝ่ามือมือฝ่าเท้าได้ โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก จนตกสะเก็ดและหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมในช่วงที่เป็นตุ่มน้ำใสทำให้เห็นเป็นหนองในตุ่มน้ำใส โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะนี้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหลายนาทีจนถึงชั่วโมง และอาจเกิดจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อได้

          ภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง ยกเว้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจพบภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ร้อยละ 1 (สายพันธุ์อาฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดในขณะนี้)
          รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กล่าวว่าหากมีอาการที่สงสัยโรคฝีดาษลิง ควรรีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติความเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสจากผื่นหรือตุ่มหนองโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี PCRสำหรับการรักษาโดยใช้ยาในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผีดาษลิงโดยตรง แต่มียาที่ชื่อ tecovirimat ซึ่งมีใช้รักษาฝีดาษคน ซึ่งมีข้อมูลในสัตว์ทดลองว่าอาจใช่รักษาโรคฝีดาษลิงได้ แต่ยังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้อาจพิจารณาให้วัคซีนแก่ผู้ที่ไม่เคยได้รับหรือรับวัคซีนก่อนหน้าเกิน 3 ปี โดยสามารถฉีดวัคซีนภายใน 4 วัน(อาจให้ได้จนถึง14วัน) หลังสัมผัสเชื้อเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรค
          สำหรับการป้องกัน 1.ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีผื่น โดยเฉพาะในช่วงที่การแตกของแผลและมีสารคัดหลั่งจำนวนมากควรแยกและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์รังโรคที่มีอาการ 2.วัคซีน มีสองชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อเป็น (ACAM2000)ซึ่งบรรจุเชื้อเดียวกับที่ใช้ในการปลูกฝีในประเทศไทย (ยุติการปลูกฝีหลัง พ.ศ. 2517)โดยพบว่าอาจสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ร้อยละ 85(ควรรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป)และวัคซีนเชื้อตาย (JYNNEOS) ซึ่งต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนทั้งสองชนิดในประเทศไทยและยังแนะนำวัคซีนเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการหรือทำวิจัยกับสัตว์ทดลอง

เอกสารอ้างอิง
https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/index.html
รูปภาพ จาก Basgoz N, Brown CM, Smole SC, Madoff LC, Biddinger PD, Baugh JJ, Shenoy ES. Case 24-2022: A 31-Year-Old Man with Perianal and Penile Ulcers, Rectal Pain, and Rash. N Engl J Med. 2022 Jun 15.