ทำไม? ...ต้องตรวจเลือด - ตรวจปัสสาวะ

รศ.ดร.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล
พญ.นิลรัตน์ วรรณศิลป์ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก
Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บทุกวันนี้ หลายโรคไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที แต่จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษา แต่ท่านทราบหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีนี้เขาต้องเตรียมตัวกันอย่างไร และประโยชน์ที่ได้มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

การตรวจเลือด
          • ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจ
          ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป งดดื่มสุรา งดยาบางชนิด (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง) ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ยกเว้นในการตรวจหาปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด ควรงดอาหารนาน 8 – 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะเลือด (ดื่มน้ำเปล่าได้)
          • ตรวจเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เลือดปริมาณเท่าไร
          ใช้เลือดประมาณ 8 – 10 cc. ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเลือดในร่างกายที่มีทั้งหมดประมาณ 5,000 cc. ดังนั้น จึงไม่มีผลเสียต่อร่างกาย
          ส่วนการบริจาคเลือดแต่ละครั้ง ผู้บริจาคจะเสียเลือดประมาณ 400 cc. โดยที่ไม่มีอันตรายใด ๆ
          • ใช้เวลาเท่าไรจึงจะทราบผล
          ประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับการตรวจเลือดตามปกติ เช่น การตรวจเม็ดเลือด การตรวจสมรรถภาพของตับและไต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด แต่สำหรับการตรวจพิเศษบางอย่างนั้นอาจต้องใช้เวลานานเป็นวันจึงจะทราบผล เช่น ผลการเพาะเชื้อจากเลือด เป็นต้น
          • เลือดที่ถูกเจาะไป ใช้ตรวจอะไรได้บ้าง
          - ตรวจนับเม็ดเลือด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย
          - ตรวจสมรรถภาพของตับ ช่วยในการหาสาเหตุของภาวะดีซ่าน ช่วยวินิจฉัยโรคตับ เช่น โรคตับอักเสบ
          - ตรวจสมรรถภาพของไต ช่วยในการวินิจฉัยโรคของไต เช่น ภาวะไตวาย
          - ตรวจระดับไขมันในเลือด ช่วยในการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
          - ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
          - ตรวจหาปริมาณฮอร์โมน ช่วยวินิจฉัยโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคธัยรอยด์เป็นพิษ
          - ตรวจหาโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
          - ตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์
          นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพิเศษอีกหลายชนิด ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสม
          • มีการตรวจอะไรที่ช่วยติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ดีกว่าการตรวจน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว
          การตรวจระดับ Hemoglobin A1C จะสามารถช่วยติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ดีกว่าการตรวจน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสามารถบอกได้ถึงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยภายในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา
          • การตรวจเลือดสามารถบอกถึงสาเหตุโลหิตจางได้หรือไม่
          ได้บางชนิด เช่น ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ภาวะการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง เป็นต้น
          • โรคหัวใจวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดได้หรือไม่
          ได้ เพราะจากประวัติการเจ็บหน้าอก การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับการตรวจเลือด จะช่วยในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการตรวจเลือดในปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมากจนสามารถใช้วินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และยังช่วยแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
          • “โรตไต” วินิจฉัยจากการตรวจเลือดได้หรือไม่ ?
          ได้ เนื่องจากการตรวจเลือดสามารถบอกถึงประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียจากไตทางอ้อม โดยสังเกตจากปริมาณของเสียที่หลงเหลืออยู่ในเลือด และเมื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยร่วมกับประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายและผลการตรวจปัสสาวะ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคหรือยืนยันการเกิดโรคไตได้อย่างถูกต้อง
          ส่วนประโยชน์ของ “การตรวจปัสสาวะ” ก็มีมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการบอกถึงความผิดปกติของไต และระบบทางเดินปัสสาวะ โดยบอกได้ทั้งความผิดปกติของหน้าที่การทำงาน เช่น ไตวาย และความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น การอักเสบติดเชื้อ นิ่ว เป็นต้น

เตรียมตัวให้พร้อม....
          เก็บปัสสาวะที่ถ่ายหลังตื่นนอนตอนเช้า เพราะจะมีความเข้มข้น สามารถพบตะกอนของสารต่าง ๆ ได้ดี แต่มีเคล็ดลับเล็ก ๆ คือ ควรถ่ายปัสสาวะทิ้งไปเล็กน้อยก่อนแล้วค่อยถ่ายใส่ภาชนะ เพื่อลดการปนเปื้อนของเซลล์ต่าง ๆ บริเวณส่วนต้นของท่อปัสสาวะ
          * สตรีที่มีประจำเดือน ไม่ควรตรวจ   การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก่อนตรวจ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความแม่นยำของผลที่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
 
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=146