มาร์กาเร็ต แซงเกอร์: มารดาแห่งการคุมกำเนิด

มาร์กาเร็ต แซงเจอร์ เป็นผู้ปูทางไปสู่สิทธิในการคุมกำเนิดของสตรี แต่มรดกตกทอดของเธอถูกทำลายโดยความเกี่ยวข้องของเธอกับขบวนการสุพันธุศาสตร์

            มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ ได้ต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้ความฝันของเธอที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดที่ใช้ได้ง่ายเป็นจริง แม้ว่าในช่วงหลังจะมีการกล่าวหาว่าเธอเป็นพวกเหยียดผิวหรือเหยียดชนชั้น แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า งานด้านคุมกำเนิดของเธอยิ่งใหญ่และเปลี่ยนโลกได้อย่างแท้จริง
            “คุณแม่! คุณสามารถเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ได้จริงหรือ? คุณต้องการมีลูกอีกหรือ? ถ้าไม่ ทำไมคุณถึงมีพวกเขา? อย่าฆ่าเขา อย่าเอาชีวิตเขาไป แต่ป้องกันได้ สามารถรับข้อมูลที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายจากพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรม....”
            โฆษณานี้ปรากฏในนิวยอร์กในปี 1916 ที่คลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกของสหรัฐฯ ก่อตั้งโดย มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ ซึ่งในสมัยนั้นการคุมกำเนิดจึงเป็นเรื่องอื้อฉาวและผิดกฎหมาย ในไม่ช้าคลินิกก็ถูกปิด และแซงเกอร์ถูกโยนเข้าคุก แต่เมื่อเธอเสียชีวิตในอีก 50 ปีต่อมา งานที่เธอทำมาทั้งชีวิตได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการวางแผนครอบครัวทั่วโลก
           สื่อและนักวิชาการยกย่องให้เธอเป็น "มารดาแห่งการคุมกำเนิด" จากการที่แซงเกอร์เป็นผู้ที่รับผิดชอบการพัฒนายาเม็ดคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดตัวแรกออกสู่ตลาดเพียงหนึ่งปี ก่อนแซงเกอร์จะเสียชีวิต


ความเห็นที่ขัดแย้ง
            อย่างไรก็ตาม วิธีการและแรงจูงใจของเธอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ความสัมพันธ์ของเธอกับขบวนการสุพันธุศาสตร์ ที่มีแนวคิดว่าควรสนับสนุนให้คนที่มียีนที่เป็นที่ต้องการเท่านั้นมีลูกได้ ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าเธอเหยียดเชื้อชาติ
           “มรดกของแซงเกอร์นั้นผสมผสานกันจริง ๆ” ซานจาม อาห์ลุวาเลีย ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และผู้หญิงและเพศศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น แอริโซนา กล่าว
            อาห์ลุวาเลีย ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ เรื่อง “Reproductive Restraints: Birth Control in India, 1877-1947” กล่าวอีกด้วยว่า “ฉันไม่คิดว่ามันผูกติดอยู่กับการปลดปล่อยแนวคิดเรื่องการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว... แต่ฉันคิดว่าปฏิเสธคนอย่างแซงเกอร์นั้นง่ายเกินไป... เราต้องอ่านประวัติของเธอ [และ] อย่างมีวิจารณญาณ” เธอบอกกับรายการเดอะ ฟอรัม ของบีบีซีเวิร์ล เซอร์วิส เรดิ

ไม่มีผู้หญิงคนไหนสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นอิสระ หากไม่สามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้': มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ (ขวา) สวมหน้ากากเพื่อประท้วงที่ถูกห้ามพูดเรื่องการคุมกำเนิดในบอสตัน ปี 1929


จุดกำเนิด
            แซงเกอร์เกิดในปี 1879 ในรัฐนิวยอร์ก เป็นลูกคนที่ 6 จากทั้งหมด 11 คน ไมเคิล พ่อของเธอเป็นช่างก่อหินชาวไอริช ครอบครัวของเธอยากจนและอาศัยอยู่ในกระท่อม แม่ของเธอตั้งครรภ์ถึง 18 ครั้ง ในจำนวนนี้ได้แท้งลูกไป 7 ครั้ง
            แซงเกอร์เริ่มต้นจากการเป็นพยาบาลในการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ทำให้เธอได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ และยังได้เห็นผลที่ตามมาจากการทำแท้งในท้องถนนอีกด้วย
           “สมัยนั้นมีกฎหมายคอมสตอก (Comstock) ที่ห้ามใช้ไปรษณีย์เพื่อเผยแพร่การคุมกำเนิดหรือข้อมูล หรืออุปกรณ์คุมกำเนิด นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายต่อต้านการคุมกำเนิดในหลายรัฐด้วย” เอเลน ไทเลอร์ เมย์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาอเมริกันและประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และผู้เขียนหนังสือ “America and the Pill: A History of Promise, Peril and Liberation” กล่าว
            นอกจากนี้ แซงเกอร์ยังต้องต่อสู้กับคริสตจักรคาทอลิกที่มีอำนาจมาก ซึ่งถือว่าการคุมกำเนิดเป็นบาปอีกด้วย
สิทธิในการคุมกำเนิด
ในเดือน มี.ค. 1914 แซงเกอร์ตีพิมพ์นิตยสารชื่อ The Woman Rebel ซึ่งสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิด แต่เธอก็ถูกกฎหมายเล่นงานอีก ทำให้เธอต้องขึ้นเรือหนีไปอังกฤษ
           ที่นั่น เธอได้รับอิทธิพลจากผลงานของโทมัส โรเบิร์ต มัลธัส ผู้แย้งว่าทรัพยากรของโลกไม่สามารถรองรับการเติบโตของประชากรที่ขาดการควบคุม เขาแนะนำให้คนทั้งหลายควบคุมตนเองและชะลอการแต่งงานออกไป แต่นักเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “นีโอ-มัลธัส” กำลังกดดันให้มีการคุมกำเนิด
           “เธอเริ่มพัฒนาวิธีการสื่อสารขึ้น... [โดยการพูด] ว่าการคุมกำเนิดเป็นวิธีรักษาสันติภาพ และ [หลีกเลี่ยง] การขาดแคลนอาหาร” ดร. แคโรไลน์ รัสเตอร์โฮลซ์ นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ กล่าว โดยที่รัสเตอร์โฮลซ์นั้นเน้นประวัติศาสตร์เรื่องประชากร ยา และเรื่องเพศสัมพันธ์
คลินิกแรก

แซงเกอร์เปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกของประเทศที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในขณะนั้น


คลินิกแรก


             ในที่สุดแซงเกอร์ก็กลับมายังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง เธอเปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกของประเทศที่นครนิวยอร์ก ในย่านที่มีสตรีที่เป็นผู้อพยพและยากจนจำนวนมากอาศัยอยู่ แต่คลินิกดังกล่าวถูกบุกค้นหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน และแซงเกอร์ก็ถูกจับกุม
            เธอเปิดคลินิกอีกครั้งในไม่กี่วันต่อมา และถูกจับกุมอีกครั้ง โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าก่อความรำคาญในที่สาธารณะ เธอขึ้นสู่พิจารณาคดีในปี 1917 ท่ามกลางความสนใจ อย่างมากของสาธารณชน ศาลตัดสินว่าเธอมีความผิด โดยให้เลือกว่าจะถูกจำคุก 30 วัน หรือจ่ายค่าปรับ แซงเกอร์เลือกการเข้าคุก ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว เธอก็ได้ให้ข้อมูลการคุมกำเนิดแก่ผู้ต้องขัง
           “จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ [เธอ] กลายเป็นบุคคลสำคัญในสหรัฐอเมริกา พี่สาวของเธอก็อยู่ในคุก [และ] อดอาหารประท้วงด้วย” เอลเลน เชสเลอร์ ผู้เขียนชีวประวัติของแซงเกอร์ กล่าว
           หลังจากได้รับการปล่อยตัว แซงเกอร์ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินที่บอกว่าเธอมีความผิดแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินว่าแพทย์สามารถสั่งยาคุมกำเนิดได้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์
โศกนาฏกรรม
           ท่ามกลางการต่อสู้ทางกฎหมาย เธอก็เผชิญกับปัญหาในชีวิตส่วนตัว ในปี 1914 เธอแยกทางกับวิลเลียม ผู้เป็นสามี และในปี 1915 เพ็กกี ลูกสาวคนเดียวของเธอก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยวัยเพียง 5 ขวบเท่านั้น
           หลังจากนั้นเธอคบหากับผู้ชายหลายคน รวมถึง แฮ็ฟล็อค เอลลิส นักวิจัยพฤติกรรมทางเพศ และ เอช จี เวลส์ นักเขียนชื่อดัง ปี 1922 เธอแต่งงานกับเจมส์ โนอาห์ เอช สลี เจ้าพ่อน้ำมัน ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักในการเคลื่อนไหวของเธอ

ฝูงชนรวมตัวกันรอบ ๆ แซงเจอร์ หลังเธอเดินทางออกจากศาล


            แซงเกอร์ขอความช่วยเหลือไปยังคนหลายกลุ่มสำหรับการเคลื่อนไหวของเธอ รวมทั้งเข้าร่วมกับกลุ่มที่มีมุมมองที่ปัจจุบันไม่ยอมรับโดยสิ้นเชิง
           “เธอร่วมมือกับสมาคมสุพันธุศาสตร์… และได้รับเงินทุนจากพวกเขาด้วย” รัสเตอร์ โฮลซ์ กล่าว
            สถาบันวิจัยจีโนมมนุษยธรรมแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความของ “สุพันธุศาสตร์” ว่าเป็น "ทฤษฎีที่ไม่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการคัดกรองการเพื่อปรับปรุงพันธุ์ของประชากร"
            อย่างไรก็ตาม ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีจะเกิดขึ้น ทฤษฎีเช่นนี้ได้รับการเผยแพร่โดยไม่มีการต่อต้านมากนัก
           “เธอต้องการต่อสู้กับความยากจนจริง ๆ และเธอก็สนับสนุนแนวคิดบางอย่างของสุพันธุศาสตร์ที่มีปัญหา เช่น เธอเสนอทำหมันในหมู่ผู้พิการ เป็นต้น” รัสเตอร์โฮลซ์ กล่าวเสริม
            เอลเลน เชสเลอร์ ผู้เขียนชีวประวัติของแซงเกอร์ กล่าวว่า เธอมีความคิดเป็นของตัวเอง “นักสุพันธุศาสตร์แบบดั้งเดิมต่อต้านการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงชั้นกลาง พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องลำดับชั้นของเชื้อชาติ ชนชั้น และสีผิว เธอไม่คิดเช่นนั้น เธอต้องการให้ผู้หญิงทุกคนมีลูกน้อยลงเท่านั้นเอง”
จนแย่ และมีพันธุกรรมที่ย่ำแย่
            ตลอดทศวรรษที่ 1920 และ 1930 มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ เดินทางไปส่งเสริมการคุมกำเนิดในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย
            ในจดหมายที่ส่งถึงสมาคมสุพันธุศาสตร์แห่งลอนดอน (London Eugenics Society) ซึ่งให้ทุนเธอเดินทางไปอินเดียในปี 1935 เธอสื่อสารด้วยการใช้คำแบบพวกเขา: "เพื่อนำความรู้เรื่องการคุมกำเนิดไปสู่คนยากจนและผู้ที่เป็นต้นแบบทางชีวภาพที่ย่ำแย่"
            ที่อินเดีย เธอพยายามสนับสนุนการใช้ผงโฟมดูโอ (ผงฆ่าเชื้ออสุจิ) แต่ได้รับเสียงบ่นมากมายว่าทำให้รู้สึกแสบร้อนและใช้งานยากหากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์
          “มีการป่าวประกาศชักชวนเรื่องการคุมกำเนิดและนำเสนอยาคุมกำเนิดให้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นแรงงานที่ยากจน แต่เทคโนโลยียังไปไม่ถึงจุดนั้น” ซานจาม อาห์ลุวาเลีย กล่าว


            การดำเนินงานของเธอที่นั่น ทำให้เธอมีโอกาสได้พบกับผู้มีอิทธิพลชาวอินเดีย เช่น มหาตมะ คานธี และ รพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของรางวัลโนเบล ในขณะที่ฐากูรสนับสนุนการคุมกำเนิด คานธีสนับสนุนการเป็นโสดและการหักห้ามใจตนเอง แซงเกอร์พยายามอย่างมากที่โน้มน้าวคานธี แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้
             เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ขบวนการส่งเสริมคุมกำเนิดทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกก็ถูกลดบทบาทลงไป แต่หลังจากนั้น ความกลัวที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรกลับมาเป็นแรงกระตุ้นให้ขบวนการกลับมาเคลื่อนไหวมากขึ้น

“ยาวิเศษ”
            ในช่วงเวลานี้ แซงเกอร์ผิดหวังกับความไร้ประสิทธิภาพของวิธีการคุมกำเนิดที่มีอยู่ เช่น ไดอะแฟรม เธอจึงเริ่มผลักดันวิธีการที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น อย่างเช่น ยาที่กินได้ เธอเขียนถึงความฝันของเธอ เรื่อง "ยาวิเศษ" ในปี 1939 แต่เพื่อให้ความคิดกลายเป็นความจริง เธอต้องการความช่วยเหลือ พันธมิตรที่สำคัญอันดับแรก คือ แคทเธอรีน แม็คคอร์มิก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ซึ่งเป็นแม่ม่ายผู้มั่งคั่งซึ่งมักให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เธอชักชวน ดร.เกรกอรี พินคัส นักวิทยาศาสตร์ด้านการเจริญพันธุ์ผู้อื้อฉาวให้เข้าร่วมโครงการด้วย
            แม็กคอร์มิกเริ่มให้ทุนก้อนแรก 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในที่สุดก็กลายเป็น 1 ล้านเหรียญ
            หลังจากผ่านไป 10 ปี ยาเม็ดก็พร้อมใช้ แต่มีปัญหาในการทดสอบและตรวจสอบประสิทธิภาพ
            การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 คณะผู้ศึกษาจึงเดินทางไปที่เปอร์โตริโกและเฮติ ผู้หญิงในที่ลี้ภัยและชุมชนแออัดมีส่วนร่วมในการทดสอบ แม้ว่าหลายคนอาจไม่ทราบพวกเขากินอะไรเข้าไป “แน่นอนว่ามีการละเมิดสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด” เอเลน ไทเลอร์ กล่าว
            ในปี 1965 สหรัฐอเมริกาได้เริ่มอนุญาตให้สตรีที่แต่งงานแล้วใช้ยานี้ได้ จากนั้นให้สตรีทุกคนเข้าถึงในปี 1972 จากนั้นอีกหลายประเทศก็นำมาใช้เช่นกัน แซงเกอร์รู้สึกพึงพอใจที่ได้เห็นยาเม็ดนี้สำเร็จก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในปี 1966
มรดกของแซงเกอร์
            มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ ถูกกล่าวหาว่าเหยียดเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษ เพราะความเกี่ยวพันของเธอกับสุพันธุศาสตร์ และงานที่เธอทำกับชาวแอฟริกันอเมริกัน ชุมชนคนผิวดำเชิญเธอให้ช่วยสร้างคลินิก ซึ่งเธอเรียกว่า "โครงการนิโกร" ที่มีวัตถุประสงค์เผยแพร่คำแนะนำในการคุมกำเนิดแก่ชุมชนคนผิวดำที่ยากจนในภาคใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งในภายหลังถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มชาตินิยมผิวดำ และต่อมาก็ถูกนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งหยิบเอามาใช้
            ในเวลาเดียวกัน เธอได้วางรากฐานสำหรับบริการด้านสุขภาพทางเพศและการทำแท้งของสหรัฐฯ ชื่อ Planned Parenthood
             ยาเม็ดดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดในโลก รองจากการทำหมันและถุงยางอนามัย ซึ่งมีผู้หญิงใช้มากกว่า 150 ล้านคน ในปัจจุบัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :  https://www.bbc.com/thai/articles/ckdjyw1dlyxo