ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภัยเงียบสุขภาพที่ต้องระวัง

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากอาการปวด บวม ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่เป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดย 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งในบางรายอาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันนี้ถือเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่เราต้องทำความรู้จักและหันมาให้ความสำคัญ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน คืออะไร?
                 ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ โดยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่เลือดมีการจับตัวเป็นก้อนภายในเส้นเลือด ทำให้ไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ เลือดไหลเวียนผิดปกติ จนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกิดจากอะไร?
                 สาเหตุของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
1. ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เช่น เกิดจากบาดแผลถูกมีดบาด หรือการเข้ารับการรักษาผ่าตัดบางอย่าง จนทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย รวมถึงในผนังหลอดเลือดมีคราบไขมันอุดตัน
2. การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดการไหลเวียนของเลือดผิดปกติจะทำให้เสี่ยงเกิดตะกอนได้ง่าย เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวอาจเกิดการกระจุกอุดตัน
3. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดจากสารห้ามการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง เช่น ร่างกายขาดโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย
สังเกตอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
                อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด โดยตำแหน่งที่พบได้
ส่วนใหญ่ ได้แก่
- ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา – ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (DVT)
                ขาเป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วมีอาการปวดบวมมากขึ้นเมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยจะปวดบวมใน 2-3 วัน
ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รับการรักษาภายในระยะเวลา 3 เดือน จะทำให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้
- ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism)
                เป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ ซึ่งระดับความเหนื่อยอาจมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยอาจมีการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย หากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเฉียบพลัน
- ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง
               ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตได้ หรืออาจเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือดได้ หากไม่รีบรักษาทันทีหรือรักษาช้า โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการชัก
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โรคใกล้ตัว ใครก็เป็นได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เคยเข้ารับการผ่าตัดต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน การนอนโรงพยาบาลนาน ๆ
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีโรคประจำตัว ผนังหลอดเลือดจะยิ่งมีความเสื่อมมากกว่าคนอายุน้อย
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- โรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด
- มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง โรคอักเสบเรื้อรัง
- รับประทานยาบางชนิด เช่น คุมกำเนิด
- การตั้งครรภ์ โดยพบว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทุก ๆ 1 ใน 1,000 คน ที่กำลังตั้งครรภ์จะเกิดลิ่มเลือด
- ติดเชื้อโควิด-19
- สูบบุหรี่
                สัญญาณอันตรายของอาการที่ควรสังเกตและระวัง คือ มีอาการปวดขาและกดเจ็บ บวมแดง หายใจถี่ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือด
ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร?
                การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีลิ่มเลือดอุดตัน โดยสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะอุดตันของเส้นเลือดดำ D-Dimer, การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT scan และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
ป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองให้ห่างไกลจากการมีโรคประจำตัว หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ยืดเส้นยืดสายประมาณ 5 นาที ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน
                ปัจจุบันหลายท่านคงมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ภาวะ VITT (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia) เป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่อาศัยไวรัสเป็นพาหะ หรือ Viral Vector Vaccine ผลข้างเคียงดังกล่าวพบได้น้อยมาก โดยพบในอัตรา 3.6 : 1 ล้านคน และอาการมักเกิดหลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 4-30 วัน โดยควรสังเกตอาการ
- ปวดศีรษะรุนแรงและต่อเนื่อง
- มีอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน
- หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจ้ำเลือดตามตัว มีตุ่มน้ำที่มีเลือดออกภายใน
- แขน ขา บวมแดง หรือซีด เย็น
- ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่อง และอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- มีอาการเกิดใหม่หลังฉีดวัคซีน
                สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน 4-30 วัน หรือมีอาการผิดปกติที่ไม่หายหลังฉีดวัคซีนเกิน 3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากภาวะดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว


ขอขอบคุณข้อมูล : แพทย์หญิงณัฐกานต์ ตั้งสุขสมบูรณ์ อายุรแพทย์โรคเลือด
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , กระทรวงสาธารณสุข
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.sikarin.com/doctor-articles