การสูบบุหรี่ต่อเนื่องสม่ำเสมอมีผลเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญต่อความดันชีพจร (pulse pressure) ตามรายงานวิจัยที่พบความเชื่อมโยงใหม่ที่อาจเป็นไปได้ระหว่างการสูบบุหรี่กับโรคหัวใจและหลอดเลือด
ความดันชีพจร (pulse pressure) เป็นค่าความแตกต่างระหว่างความดันซิสโตลิก (systolic blood pressure) หรือค่าความดันโลหิตตัวบนกับความดันไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) หรือค่าความดันโลหิตตัวล่าง ความแตกต่างนี้โดยปกติจะมีค่าระหว่าง 40 ถึง 60 mmHg
“เมื่อความแตกต่างนี้ห่างมากขึ้น จะมีโอกาสเกิดปัญหาขึ้นได้” ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา Kara Whitaker ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสุขภาพและสรีรวิทยามนุษย์ แห่ง University of Iowa ใน Iowa City กล่าว
“ค่าความดันชีพจรจะเกิน 60 mmHg เมื่อมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” Dr. Rachel Luehrs ผู้เขียนรายงานการศึกษาซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกาย ที่ North Central College ในเนเพอร์วิลล์ อิลลินอยส์ กล่าว
ในการศึกษาครั้งใหม่ คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล 30 ปี จากผู้เข้าร่วมการศึกษา 4,786 คนใ นการศึกษา Coronary Artery Risk Development in Young Adults หรือ CARDIA นักวิจัยได้ตรวจการเปลี่ยนแปลงในความดันโลหิตและดูว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ การสูบบุหรี่ และตัวแปรอื่น ๆ อย่างไร
ความดันชีพจรเพิ่มขึ้นสูงสุดในผู้หญิงผิวดำและผิวขาวซึ่งสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับผู้หญิงในเชื้อชาติเดียวกันที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยความดันชีพจรสูงขึ้น 1.38 mmHg ในผู้หญิงผิวดำ และสูงขึ้น 1.96 mmHg ในผู้หญิงผิวขาว
แม้การสูบบุหรี่และความดันโลหิตสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แน่นอนต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การเชื่อมโยงระหว่างการสูบบุหรี่และความดันโลหิตนั้นยังชัดเจนน้อยกว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากสูบบุหรี่ แต่หลักฐานในระยะยาวยังไม่แน่นอน แม้การศึกษาบางชิ้นยังแสดงว่าคนที่สูบบุหรี่ในระยะยาวมีความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย
“ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราสนใจและเป็นเหตุผลที่เราต้องการทำการศึกษาครั้งนี้” Dr. Luehrs ซึ่งจบปริญญาเอกสาขาสุขภาพและสรีรวิทยามนุษย์กล่าว
“ทำไมการสูบบุหรี่มานาน ซึ่งทราบดีว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่ต่ำลง”
การศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการสูบบุหรี่และความดันโลหิตอาจมีผลการค้นพบแตกต่างกัน เพราะนักวิจัยไม่ได้พิจารณาอิทธิพลของเชื้อชาติอย่างเพียงพอ ผู้เขียนรายงานการศึกษาครั้งใหม่กล่าว ผลกระทบจากความแตกต่างของเชื้อชาติมีความสัมพันธ์กับการเสพติดนิโคตินและอาจเพิ่มความดันโลหิตได้
การศึกษาได้แสดงว่า คนผิวดำซึ่งสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอมีความดันชีพจรสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบ 1.01 mmHg ในกลุ่มคนผิวขาว พบว่า ความดันโลหิตตัวล่างของผู้ที่สูบบุหรี่สูงกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบ 1.59 mmHg
Dr. Robert M. Carey ศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ และคณบดีเกียรติคุณ School of Medicine แห่ง University of Virginia ในชาร์ลอตส์วิลล์ กล่าวว่า คำถามต่อไปที่จะต้องหาคำตอบ คือ ความดันชีพจรที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบอย่างไรต่อโรคหัวใจในผู้สูบบุหรี่
“ไม่คิดว่าจะมีคำถามที่ว่า การสูบบุหรี่สม่ำเสมอจะลดความดันโลหิตตัวล่างและเพิ่มความดันชีพจร” Dr.Carey ผู้เชี่ยวชาญต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวาน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับการศึกษาครั้งใหม่นี้กล่าว
“ประเด็นอยู่ที่ว่า การเพิ่มความดันชีพจรจากการสูบบุหรี่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่” และถ้าเป็นเช่นนั้น “การเลิกสูบบุหรี่จะเปลี่ยนความเสี่ยงได้หรือไม่”
ถ้าการศึกษาในอนาคตพิสูจน์ความตรง (valid) ของผลลัพธ์ได้ แสดงว่าแพทย์จะต้องตรวจหาความดันชีพจรก่อน โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่มานาน”
แพทย์ไม่ได้ให้ความสนใจมากกับความดันชีพจรมานาน จนกระทั่งผู้ป่วยเข้าอยู่ในวัยกลางคนหรือเป็นผู้สูงอายุ” Dr. Luehrs กล่าว “เนื่องจากเป็นเวลาที่ความดันชีพจรเริ่มเพิ่มขึ้น หลังจากได้ผ่านชีวิตมา 5 ทศวรรษ”
การศึกษา CARDIA ที่กำลังทำอยู่อาจจะช่วยหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ได้บ้าง ผู้เข้าร่วมการศึกษานี้มีอายุ 20 ปีกลาง ๆ และไม่ได้เป็นโรคหัวใจเมื่อตอนที่ได้รับการสรรหาเข้ามาร่วมโครงการในปี 1985 และ 1986 และในตอนนี้การศึกษากำลังดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 35
“เป้าหมาย คือ เพื่อวัดทุกสิ่งที่เป็นไปได้ว่าอาจทำให้บุคคลเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ตามที่นักวิจัยสามารถคิดออก เช่น การออกกำลังกาย อาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยอื่น ๆ แล้วรอดูตามระยะเวลาที่ผ่านไปว่าใครจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดบ้าง” Whitaker กล่าว
แรงดันชีพจรสูงขึ้นในผู้สูบบุหรี่อาจส่งสัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
AHA News