อาหารทางการแพทย์

ในภาวะที่ร่างกายขาดพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นจากโรคหรือภาวะต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามความต้องการอย่างเหมาะสมก็คือ “อาหารทางการแพทย์”
                  อาหารทางการแพทย์ (medical food) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใช่ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใช้เป็นโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค ผู้ที่ไม่สามารถกินอาหารปกติได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการสารอาหารบางอย่างมากหรือน้อยเป็นพิเศษโดยที่ไม่สามารถบริโภคจากอาหารทั่วไป ปัจจุบันอาหารทางการแพทย์มีหลากหลายชนิดทั้งสำหรับผู้ใหญ่และทารก ซึ่งแต่ละชนิดก็มุ่งเน้นให้ตรงกับความต้องการของร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจง อาจอยู่ในรูปแบบที่ใช้กินหรือดื่มแทนอาหารหลัก ดื่มเพื่อเสริมอาหารบางมื้อ หรือใช้เป็นอาหารทางสายยาง (tube feeding)


ตัวช่วยในภาวะโภชนาการขาดหรือโภชนาการเกิน
                   สารอาหารส่วนใหญ่ที่มีในอาหารทางการแพทย์ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ซึ่งจะถูกดัดแปลงให้ย่อยง่ายหรือผ่านการย่อยแล้วบางส่วนเพื่อให้ดูดซึมง่ายขึ้น ร่างกายจึงนำไปใช้ได้รวดเร็ว บางชนิดมีการเพิ่มหรือลดสารอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของร่างกายในการนำไปใช้ แม้อาหารทางการแพทย์จะไม่ใช่ยา ไม่มีคุณสมบัติโดยตรงในการรักษาโรค แต่ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค ป้องกันภาวะโภชนาการขาดหรือโภชนาการเกินที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา หรือเนื่องจากการไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารบางชนิด มีอาการสำลักเวลากินอาหาร ไม่สามารถกลืนอาหารเองได้ แพ้อาหารบางอย่าง การปฏิเสธที่จะกินอาหาร หรือการทำงานของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น


 

ประโยชน์ของอาหารทางการแพทย์
                 * ใช้เป็นอาหารหลักแทนอาหารแต่ละมื้อ สำหรับผู้ที่กินอาหารไม่ได้ตามปกติ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารหรือเกลือแร่บางชนิด เช่น ผู้ป่วยไตวายต้องการอาหารที่จำกัดปริมาณโพแทสเซียม ผู้ที่เป็นเบาหวานต้องการอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ หรือผู้ที่สูญเสียกล้ามเนื้อต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง หรือใช้สำหรับเป็นอาหารทางสายยาง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร ลดอาการแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิต เพราะถ้าร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นจะส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงไปด้วย ปัจจุบันมีอาหารทางการแพทย์ที่ผลิตสำหรับเด็กโดยเฉพาะด้วย เช่น สูตรสำหรับเด็กที่ไม่ยอมกินข้าวหรือกินอาหารหลักน้อย หรือสูตรสำหรับเด็กที่มีปัญหาแพ้โปรตีนจากนมวัวและนมถั่วเหลือง เป็นต้น
                 * ใช้เป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับผู้ที่กินอาหารเองได้แต่มีปริมาณและพลังงานไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดซึ่งอาจมีอาการข้างเคียงคือเบื่ออาหาร กินอาหารหลักได้น้อย แพทย์จะพิจารณาให้อาหารทางการแพทย์เป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้แผนการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


อาหารทางการแพทย์ …ดี แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
                    แม้อาหารทางการแพทย์จะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนควรซื้อหามารับประทานเพื่อเป็นอาหารสุขภาพชั้นหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมให้สุขภาพของตนแข็งแรงขึ้น เนื่องจาก
                   * หากมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถกินอาหารได้เอง เคี้ยวกลืนได้ดี ได้รับอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่เป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาหารทางการแพทย์ก็ไม่มีความจำเป็น การกินอาหารจากธรรมชาติคุณภาพดีจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ และช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
                  * อาหารทางการแพทย์ส่วนใหญ่มีใยอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายซึ่งต้องการมากกว่าวันละ 20 กรัม แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีที่บางครั้งต้องเร่งรีบทำงานแข่งกับเวลาทำให้ไม่มีเวลากินอาหาร การดื่มอาหารทางการแพทย์ทดแทนเป็นบางมื้อก็สามารถทำได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานทดแทน แต่ควรเป็นทางเลือกที่สองรองจากอาหารหลัก


เมื่อต้องใช้อาหารทางการแพทย์
* เลือกชนิดให้ถูกต้อง
                 ร่างกายของแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน อาหารทางการแพทย์แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณแตกต่างกัน จึงไม่ควรซื้ออาหารทางการแพทย์มาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะร่างกายอาจได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล เช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและการดูดซึมไขมันได้ไม่ดี ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันย่อยง่ายกว่าเป็นส่วนผสม โรคบางโรคที่ต้องควบคุมร่างกายไม่ให้ได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกิน เช่น โรคไต ที่ต้องจำกัดปริมาณแร่ธาตุหลายตัว เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส หากซื้อมากินเองตามคำแนะนำจากเพื่อนหรือญาติโดยเลือกผิดชนิดอาจเป็นโทษร้ายแรงต่อร่างกายได้
* ปริมาณและความเข้มข้น
                 ควรได้รับคำแนะนำเรื่องการเตรียม วิธีการชง ปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อจากนักโภชนาการ เภสัชกร หรือพยาบาลที่ดูแลก่อนในการปรับเปลี่ยนสูตรทุกครั้ง ความเข้มข้นที่มากไปหรือน้อยไปล้วนมีผลเสียต่อร่างกาย ถ้าส่วนผสมเจือจางมากร่างกายอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แต่ถ้าได้รับปริมาณที่เข้มข้นเกินไปร่างกายรับไม่ได้ก็อาจทำให้ท้องเสียหรือได้รับสารอาหารบางตัวมากเกินความจำเป็น
                 การสามารถเลือกกินอาหารที่เราชอบได้หลากหลายและเหมาะสมกับตัวเรา ย่อมมีความสุขมากกว่าการต้องกินอาหารเพื่อชดเชยหรือบำบัดโรคตามที่ผู้อื่นจัดเอาไว้ให้ ดังนั้น หากยังไม่อยากพึ่งพาอาหารทางการแพทย์ก็อย่าลืมดูแลตัวเองให้แข็งแรงสุขภาพดีอยู่เสมอ


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาหารทางการแพทย์
อาหารทางการแพทย์มีให้เลือกตามชอบทั้งแบบผงและแบบน้ำ ซึ่งปัจจุบันวิธีการใช้ก็ค่อนข้างสะดวก
                 * ถ้าเป็นแบบผงจะมีวิธีการชงที่ชัดเจนอยู่ข้างกระป๋อง มีช้อนสำหรับตวงอยู่ในกระป๋อง วิธีการชงคล้ายกับการชงนมให้เด็กทารก ขนาดบรรจุส่วนใหญ่ คือ 400 กรัม และ 1,000 กรัม
                * สำหรับแบบน้ำจะบรรจุอยู่ในกระป๋องขนาด 250-350 มิลลิลิตร เก็บได้โดยไม่ต้องแช่เย็น เปิดรับประทานได้ทันที
                * ก่อนใช้ควรได้รับคำแนะนำวิธีการใช้จากเภสัชกร นักโภชนาการ หรือพยาบาล และควรอ่านรายละเอียดข้างกระป๋องให้ชัดเจนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
                นอกจากนี้ อาหารทางการแพทย์ทุกผลิตภัณฑ์มักจะมีข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาได้ด้วยตนเอง


ขอขอบคุณ :คุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.hitap.net/