ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงที่อุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินี้เอง มีส่วนทำให้ร่างกายของเราร้อนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการ หรือภาวะต่าง ๆ ตามมา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราควรรักษาอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อเลี่ยงอาการ หรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ
โดยวันนี้ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันความรู้ และวิธีการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูร้อนด้วยตัวเองตามหลักของศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากบทสัมภาษณ์ พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล ประจำวิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ให้ทุกคนได้ทราบกัน
ความร้อนที่สะสมภายในร่างกายอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วย ไม่สบายเนื้อ-สบายตัว เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืด เจ็บในช่องปากและลำคอ พบแผลร้อนในช่องปาก เกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายลำบาก ทำให้ผิวพรรณแห้งกร้านไม่สดใส เกิดสิวอักเสบขึ้นตามใบหน้า หรือเกิดฝีอักเสบตามลำตัวได้ค่ะ
ยิ่งไปกว่านั้น หากร่างกายของเรามีความร้อนสะสมมากก็จะส่งผลเสียทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป เมื่อร่างกายเกิดการอักเสบบ่อยครั้ง ก็อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยภายในอย่างรุนแรง (เช่น เกิดเนื้องอก หรือมะเร็ง เป็นต้น)
โดยสภาพอากาศร้อนในไทย ยังสามารถมีผลต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บตามมา อย่างคาดไม่ถึงได้ เช่น :
- อากาศร้อนจัดสามารถทำให้อาหารเปลี่ยนสภาพได้รวดเร็ว เช่น เกิดการบูดเน่าเสีย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสปะปน จึงเสี่ยงต่อการเป็น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด-อหิวาตกโรค โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไทฟอยด์ (โรคไข้รากสาดน้อย)
- เมื่อร่างกายต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ในทันที จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- ในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมักเกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ได้ง่าย จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของ โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ (Rabies) เพราะเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข หรือ แมวที่ติดเชื้อ กัด ข่วน หรือ เลียบริเวณผิวหนังของผู้ที่มีแผล เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ถูกกัด และอาจอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
- ภาวะเครียดวิตกกังวล (Stress Disorder) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ โมโหและหงุดหงิดง่าย กระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลรอบข้าง และส่งผลเชิงลบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งเป็นเหตุทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมตามมาค่ะ
‘ธาตุเจ้าเรือน’ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
ก่อนที่เราจะมาเรียนรู้ว่าเราสามารถดูแลสุขภาพของเราตามหลักของธาตุเจ้าเรือนได้อย่างไร เราอาจจะต้องทำความรู้จักธาตุเจ้าเรือนกันก่อนสักเล็กน้อย โดยธาตุเจ้าเรือนแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ค่ะ แต่ละธาตุก็จะมีความจำเพาะโดดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้ :
- ธาตุดิน : รูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ ผมดกดำ ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ อวัยวะมีความสมบูรณ์ เจ็บป่วยค่อนข้างยาก แต่เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการขาดการดูแลเอาใจใส่ตนเอง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น
- ธาตุน้ำ : รูปร่างสมบูรณ์ ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ท่าทางการเดินมั่นคง พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ทำอะไรช้า ๆ เนิบ ๆ สามารถทนความเย็นได้ดีค่ะ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย มักเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการเป็นหวัด หรือภูมิแพ้อากาศได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ควรระมัดระวังเรื่องระบบเลือดน้ำเหลือง แผลหายช้า และอาการท้องเสีย ท้องร่วงค่ะ
- ธาตุลม : รูปร่างผอมบาง ผิวค่อนข้างแห้ง เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทนความหนาวไม่ได้ ปัญหาสุขภาพที่มักเกิดกับบุคคลธาตุลม คือ อาการนอนไม่หลับ มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อ ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี บางครั้งอาจมีภาวะกรดไหลย้อน มักมีอาการปวดตามตัวและข้อต่อ และในผู้ป่วยบางรายให้ระวังเรื่องอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บ้านหมุน ในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ธาตุลมจะกำเริบค่ะ
- ธาตุไฟ : รูปร่างปานกลาง ผิวมัน โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เป็นคนใจร้อน ไฟแรง ทนความร้อนไม่ได้ หิวบ่อย ทานจุ แต่ไม่อ้วน เนื่องจากร่างกายมีระบบเผาผลาญ (Metabolism) ที่ดี ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยก็มักจะเป็น โรคเครียด โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นไข้ ตัวรุมอยู่บ่อยๆ เกิดสิวอักเสบ เป็นฝีหนองตามลำตัว เจ็บคอร้อนใน ท้องผูก เป็นต้นค่ะ
ในช่วงฤดูร้อน (ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. – ปลายเดือน พ.ค.) จะเป็นช่วงเวลาที่สมุฏฐานธาตุไฟ (ปิตตะ) กำเริบ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และประเทศไทยทำมุมตั้งฉากตรงกับดวงอาทิตย์พอดี สภาพอากาศจึงร้อนอบอ้าวมากกว่าปกติ ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนเพิ่มขึ้น (หรือ ธาตุไฟกำเริบ) ซึ่งหากไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้จนหมดก็จะทำให้พบปัญหาสุขภาพดังนี้ เช่น เกิดอาการร้อนใน-เป็นแผลในช่องปากบ่อยครั้ง เกิดสิวหรือผดผื่นคันได้ง่าย ท้องผูก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เกิดภาวะนอนหลับยาก-นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
อาหาร ผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่ช่วยลดธาตุไฟในร่างกาย
การเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการดับพิษร้อน และลดการสะสมของความร้อนภายในร่างกาย ซึ่งรายการอาหารที่แนะนำมีดังนี้ค่ะ
- อาหารที่มีรสจืด-เย็น เช่น ไก่ตุ๋นฟักเขียวมะนาวดอง ผัดบวบใส่ไข่ แกงจืดตำลึงใส่หมูสับ และแกงจืดผักหวานบ้าน ช่วยทำให้ร่างกายเย็นลง ดับพิษร้อนที่สะสมในร่างกาย ลดอาการเป็นไข้-ตัวร้อน
- อาหารที่มีรสขมเล็กน้อย-ปานกลาง เช่น ต้มจืดมะระจีนยัดไส้หมูสับ ไข่เจียวดอกแค และใบบัวบกผัดไข่ ก็จะช่วยระบายความร้อน ขับของเสีย และถอนพิษไข้ที่สะสมในร่างกายได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้กลุ่มผัก-ผลไม้ และน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ก็จัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดธาตุไฟในร่างกายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น :
- กลุ่มผักที่มีฤทธิ์เย็น ได้แก่ ฟักเขียว บวบ ตำลึง ใบเตย รางจืด แตงกวา มะรุม และกระเจี๊ยบเขียว
- กลุ่มผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น ได้แก่ แตงโม แคนตาลูป เมล่อน แตงไทย ชมพู่ แก้วมังกร และมังคุด
- น้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำใบเตยหอม น้ำเก็กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำว่านหางจระเข้ และน้ำรากบัว
มีอาหารที่ควรเลี่ยงเพื่อลดธาตุไฟในร่างกายหรือไม่?
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงนี้ ได้แก่ อาหารรสจัด (เผ็ดจัด-หวานจัด-มันจัด-เค็มจัด) เพราะจะไปกระตุ้นธาตุไฟให้กำเริบมากขึ้น ทำให้เกิดอาการร้อนใน อักเสบ แผลหายช้าได้ค่ะ
การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป เพื่อลดธาตุไฟในร่างกาย ทำได้อย่างไรบ้าง?
1. ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน จะช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย
2. ดื่มน้ำสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำใบเตย น้ำเก็กฮวย น้ำย่านาง น้ำมะตูมอ่อน ช่วยให้สดชื่นสบายตัว
3. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและมีน้ำหนักเบา เช่น ผ้าฝ้ายบางๆ ผ้าลินิน หรือผ้าชีฟอง เป็นต้น และควรเลือกผ้าโทนสีอ่อนจะช่วยสะท้อนแสงแดดออกไป ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสมในร่างกาย
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำตาลในปริมาณสูง เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบได้มากขึ้น
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เพราะจะทำให้กระบวนการในการย่อยอาหารทำงานหนักขึ้น เพิ่มการสะสมของธาตุไฟในร่างกาย
6. ควรขับถ่ายเป็นประจำเพื่อลดความร้อนและขจัดของเสียที่ตกค้างภายในร่างกาย หากมีภาวะท้องผูกขับถ่ายลำบาก ควรรับประทานผัก-ผลไม้ที่มีใยอาหารสูง จะช่วยทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
7. หากต้องอยู่ในสถานที่กลางแจ้ง แดดจัด เป็นเวลานาน ควรเตรียมผ้าชุบน้ำเย็น ผ้าเย็น หรือ Cold Pack สำหรับวางประคบลงบนผิวหนังและเช็ดตัวเพื่อเปิดรูขุมขน จะช่วยลดความร้อนภายในร่างกายและทำให้สบายตัวมากขึ้น
การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ด้วยหลักการของธาตุเจ้าเรือนนี้ ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่คนรักสุขภาพ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมตามแต่ละชนิดของธาตุเจ้าเรือน, เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแสลงต่อโรค และรับประทานสมุนไพรที่เหมาะต่อธาตุเจ้าเรือน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง บรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับคืนสู่ภาวะปกติค่ะ
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย : พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล วิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย : พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล วิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.princsuvarnabhumi.com/articles/life-elements-summer-food
ขอขอบคุณ :พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล วิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ