5 ข้อควรรู้ของ ผู้รับและผู้บริจาคไต

สำหรับผู้รับการปลูกถ่ายไต
1. ใครปลูกถ่ายไตไม่ได้บ้าง
คนที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยสามารถปลูกถ่ายไตได้ หากแต่ต้องไม่มีภาวะดังต่อไปนี้
* ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชรุนแรง หรือยังคงใช้สารเสพติด โดยมีการพิจารณาแล้วว่าอาจมีผลต่อการดูแลตนเองหลังการปลูกถ่ายไต
* ผู้ป่วยที่ไม่ปฏิบัติตามการรักษา (Nonadherence) แม้ได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม และมีการพิจารณาแล้วว่าอาจมีผลต่อการดูแลตนเองหลังการปลูกถ่ายไต
* ผู้ป่วยมะเร็งที่โรคยังไม่คงที่
* ผู้ป่วยที่กำลังมีการติดเชื้อในร่างกาย (Active Infection)
* ผู้ป่วยที่มีโรคปอดขั้นรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ (Severe irreversible lung disease )
* ผู้ป่วยที่มีโรคเสื่อมสภาพของระบบประสาท (Neurodegenerative Disease) ที่ยังมีการดำเนินโรคอยู่
* ผู้ป่วยที่มีโรคตามระบบ (Systemic Disease) ที่แพทย์พิจารณาว่าไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกถ่ายไต


2. อายุของผู้เข้ารับการปลูกถ่ายไต
* ไม่ควรใช้อายุของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวในการพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตหรือไม่
* แนะนำว่าหากจะทำการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ควรต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยถึงผลดี ผลเสีย และโอกาสของการเสียชีวิต รวมถึงภาวะแทรกซ้อนเมื่อเปรียบเทียบกับการทดแทนไตด้วยวิธีอื่น ๆ
* แนะนำให้ทำการประเมินระบบประสาทด้านการรู้คิด (Neurocognitive) ในผู้ป่วยเด็กทุกรายในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ปี


3. ผู้ป่วยที่มีโรคเอส แอล อี ปลูกถ่ายไตได้หรือไม่


แนะนำให้โรคเอสแอลอีสงบก่อนโดยอาจรักษาด้วยยาและการทดแทนไตวิธีอื่น ๆ อย่างน้อย 1 ปีหลังจากโรคสงบ จึงทำการปลูกถ่ายไต


4. ผู้ป่วยมะเร็งสามารถปลูกถ่ายไตได้หรือไม่
ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จะปลูกถ่ายไต ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ถ้าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ไม่ควรปลูกถ่ายไต แต่ถ้าเป็นมะเร็งเฉพาะที่ แล้วทำการรักษาโรคสงบแล้ว ตามดุลยพินิจของแพทย์สามารถปลูกถ่ายไตได้


5. ผู้ป่วยโรคหัวใจปลูกถ่ายไตได้หรือไม่
ผู้ป่วยโรคหัวใจที่สามารถแก้ไขสาเหตุได้ ควรแก้ก่อนการปลูกถ่ายไต แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย และมีอาการหัวใจบีบตัวไม่ดีหรือเส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรงมากไม่ควรปลูกถ่ายไต


สำหรับผู้ประสงค์บริจาคไต
1. หลักเกณฑ์สำหรับผู้บริจาคมีชีวิต
ผู้บริจาคที่มีสุขภาพกายและใจพร้อมตามคำพิจารณาของแพทย์และยังต้องมีความสัมพันธ์ดังต่อไปนี้กับผู้ป่วยไตเรื้อรัง
ผู้บริจาคต้องเป็นเครือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกัน
ก. บิดา-มารดา บุตร-ธิดา ตามธรรมชาติ พี่-น้อง ที่เกิดจาก บิดา-มารดา เดียวกันที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฎหมายหรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และหรือ DNA จากบิดามารดา
ข. ลุง ป้า น้า อา หลาน (หมายถึงลูกของพี่หรือน้องที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง) ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรกหรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง เข่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดาในกรณีนี้ต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้บริจาค และผู้รับอวัยวะมี DNA และหรือ HLA ที่มีความพันธ์กัน หรือผู้บริจาคเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรืออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยกับผู้รับอวัยวะมาแล้วอย่างน้อยสามปีกรณีที่มีบุตรร่วมกันโดยสายโลหิตไม่ต้องใช้ระยะเวลาสามปี หากมี ปัญหาในการพิสูจน์บุตรร่วมกันให้ใช้ DNA เป็นเครื่องพิสูจน์ หรือผู้บริจาคต้องเป็นผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะทดแทน และประสงค์บริจาคอวัยวะของตนออกให้กับผู้อื่น
2. อายุของผู้บริจาคไต
เบื้องต้นสำหรับผู้บริจาคอายุมากที่สนใจบริจาคไต สามารถบริจาคได้ เมื่อได้รับการประเมินอย่างละเอียด ว่าผู้บริจาคไตดังกล่าวมีความเหมาะสม และทั้งผู้บริจาคไต และผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด และระยะเวลาที่ไตปลูกถ่ายจากผู้บริจาคอายุมากจะสามารถใช้งานได้ เหตุผลเพราะการใช้ไตจากผู้บริจาคสูงอายุ อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ทั้งต่อตัวผู้บริจาคเอง ที่อายุมากและมักมีโรคเรื้อรังอยู่แล้ว ทำให้มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดและสุขภาพอาจเปลี่ยนไปหลังจากบริจาค ขณะที่ไตที่ได้จากผู้บริจาคสูงอายุอาจะใช้ประโยชน์จากไตที่ได้รับไม่นานเท่าที่ควรเนื่องจากการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพตามอายุ ปลูกถ่ายไตในศูนย์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้เกณฑ์ที่ 65 ปี
3. เกณฑ์สมรรถภาพในการยอมรับเป็นผู้บริจาคไต
ระดับค่าการทำงานของไตที่ยอมรับให้บริจาคไตได้ต้องมีค่า GFR >90 ml/min/1.73m2 และเกณฑ์คัดออก คือ ค่า mGFR หรือ mCrCl หรือ eGFR cr-cys น้อยกว่า 70 ml/min/1.73m2
4. ผู้บริจาคไตหากมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน สามารถบริจาคไตได้หรือไม่
ผู้ประสงค์บริจาคไตขณะมีชีวิตที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะก่อนเบาหวานควรงดการบริจาคไต เนื่องจากผู้ประสงค์บริจาคไตทุกรายจะได้รับการตรวจระดับพลาสมากลูโคสตอนเช้าหลังอดอาหารมากกว่า 8 ชั่วโมง และตรวจวัดระดับ Hemoglobin A1c รวมถึงตรวจความทนต่อกลูโคส (75 g oral glucose tolerance test) ในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อเบาหวานแต่ตรวจคัดกรองแล้วไม่พบความผิดปกติ และหากพบภาวะเสี่ยงต่อเบาหวานในอนาคตต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
5. ผู้ประสงค์บริจาคไตขณะมีชีวิตที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถบริจาคไตได้หรือไม่
ผู้บริจาคไตที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่มีร่องรอยการทำงานของอวัยวะส่วนปลายจากความดันสูง (target organ damage) และสามารถควบคุมให้ความดันต่ำกว่า 140/90 mmHg ด้วยยาลดความดันไม่เกินสองชนิด และให้ความร่วมมือ ในการรักษารวมถึงการนัดติดตาม สามารถเป็นผู้บริจาคไตได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ทราบว่าความดันจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดยธรรมชาติ และหลังจากการบริจาคไตมีโอกาสเกิดความดันเพิ่มมากกว่าปกติ


ขั้นตอนระหว่างรอพร้อมปลูกถ่ายไต
*แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
* ซักประวัติตรวจร่างกายตรวจความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
* ตรวจเลือดดูการทำงานของไตและโรคร่วมอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ
* ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA match)
* ส่งตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันและตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
* ลงทะเบียนพร้อมรอ (active waiting list)



ขอบคุณข้อมูลจาก พญ. เมธินี สุทธิไวยกิจ
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไ
โรงพยาบาลพญาไท 2


https://www.phyathai.com/th/article/5-things-that-the-kidneys-pt2