ไตหมู VS ไตคน เปลี่ยนถ่ายได้จริงหรือ

ศัลยแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศความสำเร็จในการเปลี่ยนถ่ายไตหมู ที่มีการตัดพันธุกรรมให้แก่คนไข้สมองตาย โดยพบว่าไตหมูสามารถทำงานได้เป็นปกติมานานกว่า 1 เดือน ทั้งนี้การทดลองดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพัฒนา ก่อนจะมีการปลูกถ่ายไตจากหมูมาสู่คนที่สามารถทำได้จริง


“รศ. นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ” กล่าวถึง ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ โดยเฉพาะไต เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอย่างมาก เนื่องจากต้องเป็นญาติหรือผู้เกี่ยวข้องทางสายเลือดเท่านั้นจึงจะบริจาคให้กันได้ หรือต้องรอคิวจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย และต้องหาความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อในการปลูกถ่ายไต การทดลองปลูกถ่ายไตหมูมาสู่คน จึงเป็นความหวังที่จะช่วยทำให้มีอวัยวะเพียงพอต่อการรักษามากยิ่งขึ้น


ประเทศไทยมีการทดลองการเปลี่ยนถ่ายไตจากหมูมาสู่คนหรือไม่ ?
ช่วงปี พ.ศ. 2565 ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมหมู และได้นำไตจากหมูที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมแล้วมาปลูกถ่ายในคนเป็นครั้งแรกของโลก โดยคนที่รับการปลูกถ่ายไตจากหมูเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในภาวะสมองตายแล้ว ได้ทำการทดลองประมาณ 72 ชั่วโมง ก็พบว่าไตหมูสามารถทำงานขับปัสสาวะได้จริง


ในระยะเวลาถัดมา นอกเหนือจากไตแล้ว ยังได้มีการปลูกถ่ายหัวใจจากหมูสู่ผู้ป่วยโรคหัวใจจริง เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยครั้งนี้เป็นผู้ป่วยจริง ไม่ใช่ผู้ป่วยสมองตาย พบว่าผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 เดือน โดยที่หัวใจสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส


อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูมาสู่คนยังต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอด และยืดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง ความยากของการเปลี่ยนถ่ายไตจากหมูมาสู่คน และความเข้ากันได้ของสภาพร่างกาย


จากข้อมูลล่าสุด หมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมสามารถปลูกถ่ายไต และมีเนื้อเยื่อที่มีความเข้ากันได้กับคน ซึ่งจากเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไตจากหมูมาสู่คนมีความเป็นไปได้ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ในอนาคตอันใกล้ แต่ยังคงต้องพัฒนาการดัดแปลงพันธุกรรมในหมู เพื่อลดการติดเชื้อไวรัส จากหมูสู่คน หรือไวรัสที่ส่งผลต่อการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่าย


ประโยชน์ที่ได้รับของการใช้ไตหมู
ปัญหาการปลูกถ่ายไตที่สำคัญ คือ มีอวัยวะไม่เพียงพอ ไตหมูจะมีประโยชน์อย่างมาก หากการทดลองทำได้สำเร็จ เพราะจะทำให้มีอวัยวะที่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ไตที่มาจากหมูดัดแปลงพันธุกรรมมีข้อดี คือ โตเร็ว ตัดต่อพันธุกรรมใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถนำไตหมูมาปลูกถ่ายให้คน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะได้ในอนาคต


อนาคตจะมีการปลูกถ่ายไตหมูมาสู่คนที่มากขึ้นหรือไม่ ?
ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ในต่างประเทศเริ่มมีการทดลองปลูกถ่ายไตจากหมูสู่คนเพิ่มมากขึ้น และกำจัดข้อด้อย หรือข้อผิดพลาดให้ลดลง และพัฒนาการปลูกถ่ายไตจากหมูมาสู่คน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้จริง เชื่อว่าในระยะ 5 ปี อาจจะมีนวัตกรรมที่สามารถทำได้จริงมากยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท 2

https://www.phyathai.com/th/article/pig-kidney-human-kidney-pt2