ผ่าตัดเต้านมบางกรณีไม่ทำลายความสามารถในการให้นมบุตร

HealthDay News

การวิจัยครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดรักษาอาการเต้านมที่ไม่ร้ายแรงไม่ทำลายความสามารถของการให้นมบุตรในอนาคต
    การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมผู้หญิง 85 คน อายุ 18 ถึง 45 ปี ในจำนวนนี้มีอยู่ 15 คนที่มีประวัติอาการผิดปกติของเต้านมที่ไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่โรคมะเร็ง) (benign breast condition) รวมไปถึงถุงน้ำหรือซีสต์ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง และภาวะเต้านมโต  อีก16 คนได้รับการผ่าตัดเต้านม ได้แก่ ศัลยกรรมเสริมหน้าอก (breast augmentation) การผ่าตัดลดขนาดเต้านม (reduction mammoplasty) และการตัดชิ้นเนื้อออกตรวจ (biopsy)
    ตามรายงานการค้นพบซึ่งนำเสนอผ่านการประชุมเสมือนของ American College of Surgeons (ACS) ไม่ว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการผ่าตัดมาหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 80 ผู้เข้าร่วมการศึกษาสามารถให้นมบุตรหรือปั๊มนมแม่เก็บไว้ในขวดเพื่อเลี้ยงบุตรได้
    งานวิจัยที่นำเสนอต่อที่ประชุมยังถือว่าเป็นงานวิจัยในขั้นต้นจนกว่าจะได้เผยแพร่ในวารสารที่ผ่านการพิจารณาทบทวนแล้ว
    แต่ละปีผู้หญิงเกือบ 1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการของเต้านมที่ไม่ร้ายแรง โดยประมาณครึ่งหนึ่งจะมีรอยโรคที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรงเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเธอ
    ในหลายๆ กรณีอาการเหล่านี้จะรักษาด้วยการผ่าตัด  กระบวนการผ่าตัดเต้านมอื่นๆ โดยทั่วไป ได้แก่ การผ่าตัดลดขนาดเนื้อเยื่อเต้านมโตหรือศัลยกรรมเสริมหน้าอกเพื่อรักษาความไม่สมมาตรหรือการเกิดอาการผิดปกติของเต้านม
    “กุมารแพทย์และสูตินรีแพทย์ซึ่งส่งต่อผู้ป่วยวัยรุ่นเพื่อรักษาอาการผิดปกติของเต้านม รวมทั้งพ่อแม่ จะกังวลว่าการผ่าตัดอาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเต้านมและการให้น้ำนมในภายหลัง” Laura Nuzziผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา ซึ่งเป็นผู้จัดการด้านวิจัยคลินิกที่ Boston Children’s Hositalกล่าว
    มีงานวิจัยอยู่จำกัดที่ศึกษาว่าการผ่าตัดอาการผิดปกติของเต้านมที่ไม่ร้ายแรงจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการให้นมบุตรในภายหลัง  ผู้เขียนรายงานจะดำเนินการวิจัยในด้านนี้ต่อไป คณะผู้วิจัยกล่าวในข่าวเผยแพร่ของ ACS
    Shannon Malloy ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาเป็นผู้ช่วยด้านวิจัยคลินิกที่ Adolescent Breast Clinic ของโรงพยาบาล กล่าวว่า “เราหวังที่จะเพิ่มเติมข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศัลยแพทย์ตกแต่งพลาสติก แพทย์ปฐมภูมิ และผู้ให้บริการทางการแพทย์ซึ่งดูแลผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติของเต้านมที่ไม่ร้ายแรงสามารถให้การรับรองได้ว่าการผ่าตัดสำหรับอาการผิดปกติของเต้านมที่ไม่ร้ายแรงมีความปลอดภัยและไม่ควรขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการผ่าตัด เพราะเกรงว่าจะมีผลเสียต่อการให้นมบุตรและการหลั่งน้ำนมในอนาคต