Ivermectin ยาอันตราย ห้ามซื้อใช้เอง

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยาฆ่าพยาธิกลุ่ม Macrocyclic lactone สูตรทางเคมีคือ 22, 23- dihydroavermectin B1a, B1b มีฤทธิ์ทำให้พยาธิเป็นอัมพาต
          เดิมเป็นยาที่ใช้เฉพาะสำหรับสัตว์เพื่อฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจระยะต่อมาจึงมีการนำมาใช้ในคน ซึ่งข้อบ่งใช้ของยาไอเวอร์เมคตินในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ รักษาโรคพยาธิตาบอด (Onchocerciasis /River blindness) ที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย (Onchocerca volvulus) และโรคพยาธิเส้นด้ายในลำไส้เล็ก (Intestinal Strongyloidiasis) แต่สำหรับประเทศไทยรับรองให้ใช้เฉพาะรักษาโรค Strongyloidiasis ที่มีสาเหตุจากพยาธิเส้นด้าย (Strongyloides stercoralis) และโรคหิด ยาไอเวอร์เมคตินจัดเป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และมีสถานะเป็นยากำพร้า
กลไกการออกฤทธิ์ของยา
          ยาจะไปจับกับช่องทางขนส่งประจุคลอไรด์ของเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อของพยาธิที่มีสารกลูตาเมตอยู่ที่หน้าประตู (Glutamate-gate Cl-) ทำให้ความสามารถในการผ่านของประจุคลอไรด์ที่เยื่อหุ้มเซลล์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นมากเกินไป จนมีผลยับยั้งการส่งกระแสประสาท ทำให้พยาธิเคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด
ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยา
          สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม ขนาดที่ใช้คือ 200 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว โดยอาจให้รับประทานซ้ำอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดไป กรณีผู้ป่วยมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
          ผู้ที่รับประทานยาไอเวอร์เมคตินอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนศีรษะ ผื่นคัน อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ตาอักเสบ ตัวบวม ท้องเสีย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เจ็บตา ระคายเคืองตาและอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงได้ เช่น หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก มีจ้ำตามผิวหนัง หรือเลือดออกผิดปกติ ชัก เป็นต้น

          ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ยาไอเวอร์เมคตินในกรณีต่อไปนี้
          -  หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย
          -  เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 15 กิโลกรัม หรืออายุน้อยกว่า 5 ปี
          -  ผู้ป่วยโรคหอบหืด เพราะอาจทำให้มีอาการมากขึ้น
          -  ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท เพราะอาจทำให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ
          -  ผู้ที่ใช้ยานอนหลับ หรือยากลุ่ม Monoamine oxidaseinhibitors
          -  ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน เพราะอาจมีผลต่อการรักษาหรือเกิดอันตรายได้
          คำแนะนำในการใช้ยา
         -  ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง (ก่อนอาหาร 30 นาที)
         -  ห้ามใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ
         -  หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยานี้อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์
         -  ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้นและความร้อน

           ตามที่ปัจจุบันมีกระแสข่าวและสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อข้อมูลว่า ยาไอเวอร์เมคติน สามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว หาซื้อยามารับประทานเอง กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขอเตือนประชาชนว่า “ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง” เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ อีกทั้งข้อมูลวิชาการล่าสุดที่ผ่านการทบทวนอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) ของ Cochran’s Review ที่ถือเป็นมาตรฐาน Guideline ทั่วโลกก็มีความเห็นที่สอดคล้องว่าประสิทธิภาพของยานี้ในการรักษาโควิด-19 ยังไม่ชัดเจนและขัดแย้งกันอยู่ ยังคงต้องรอผลการศึกษาทางคลินิกที่มีน้ำหนักและหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากขึ้นกว่านี้ ซึ่งขณะนี้องค์การต่างๆ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยยังไม่อนุมัติหรือรับรองให้ใช้ยานี้ในการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้ใช้ได้เฉพาะในการศึกษาทางคลินิกที่มีแพทย์ดูแลเท่านั้น เพราะขนาดยาที่ใช้ให้ได้ผลต้องใช้ในปริมาณที่สูง
กว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

แหล่งอ้างอิง :
ฉันทกา สุปิยพันธุ์, ประเสริฐ สิทธิเจริญชัย. การใช้ยาต้านพยาธิเพื่อรักษาภาวะการติดเชื้อพยาธิตัวกลมในลำไส้. จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2551 ม.ค. – ก.พ; 52(1): 63 – 76 สืบค้นจาก http://clmjournal.org/_fileupload/journal/62-4-7.pdf สืบค้นวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “EMA advises against use of ivermectin for the prevention or treatment of COVID-19 outside randomised clinical trials” [Online]. Available: https://www.ema.europa.eu/en/news/ema-advises-against-use-ivermectin-prevention-treatment-covid-19-outside-randomised-clinical-trials สืบค้นวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “IDSA Guidelines on the Treatment and Management of Patients with COVID-19” [Online]. Available: https://www.idsociety.org/practice-guideline/covid-19-guideline-treatment-and-management/ สืบค้นวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “Ivermectin” [Online]. Available: https://www.covid19treatmentguidelines.nih.gov/therapies/antiviral-therapy/ivermectin/ สืบค้นวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “Tablets Stromectol® (Ivermectin)” [Online]. Available: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050742s022lbl.pdf สืบค้นวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “WHO advises that ivermectin only be used to treat COVID-19 within clinical trials” [Online]. Available: https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/whoadvises-that-ivermectin-only-be-used-to-treat-covid-19-within-clinical-trials สืบค้น วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 “Why You Should Not Use Ivermectin to Treat or Prevent COVID-19” [Online]. Available: https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/why-you-should-notuse-ivermectin-treat-or-prevent-covid-19 สืบค้นวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564