วัดความดันโลหิตตอนกลางคืน อาจเป็นตัวพยากรณ์ความเสี่ยงที่ดี

Circulation 2020 Nov 2

ผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงขณะนอนหลับมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจวาย แม้ว่าความดันโลหิตในเวลากลางวันจะอยู่ในช่วงปกติก็ตาม งานวิจัยครั้งใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Circulation ของ America Heart Association กล่าว
    ผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพโดยทั่วไปจะใช้ผลการวัดความดันโลหิตในสถานพยาบาลกลางวันเพื่อกำหนดความจำเป็นในการใช้และขนาดของยาความดันโลหิตสูงของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากอาจมีความดันโลหิตสูงในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ถูกตรวจ เป็นความดันโลหิตสูงขณะนอนหลับ
    “การศึกษาครั้งนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงตอนกลางคืน และข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะที่ปรากฏของความดันโลหิตเวลากลางคืน ซึ่งแตกต่างจากที่เคยรายงานก่อนหน้านั้น" Dr.Kazuomi Kario ผู้นำการเขียนรายงานการศึกษาและศาสตราจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ระบบหัวใจและหลอดเลือดแห่ง Jichi Medical University กล่าว
    การศึกษาโดย The Japan Ambulatory Blood Pressure Monitoring Prospective (JAMP) ได้สรรหาผู้ป่วย 6,359 คน ทั่วประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปี 2009 และปี 2017 และวัดระดับความดันโลหิตเวลากลางวันและกลางคืนโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตผู้ป่วยนอกชนิดพกติดตัวไว้ใช้ที่บ้าน
    มีการวัดความดันโลหิตระหว่างกิจกรรมประจำวันและตอนนอนหลับเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และได้ดาวน์โหลดข้อมูลจากอุปกรณ์เป็นระยะที่สถานพยาบาล  ผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ชาย และมากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า 65 ปี
    ผู้ป่วยทั้งหมดมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อย 1 อย่าง และ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยใช้ยารักษาความดันโลหิตอยู่ และไม่มีใครเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แสดงอาการในตอนเริ่มต้นการศึกษา
    ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับคำแนะนำให้พักผ่อนหรือนอนระหว่างช่วงเวลากลางคืนและดำเนินกิจกรรมในเวลากลางวันตามปกติ
    โดยมีการรายงานกิจกรรมประจำวันกับเวลานอนและตื่นในไดอารีด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบทุกคนได้บันทึกผลการวัดความดันโลหิตโดยอัตโนมัติเวลากลางวัน 20 ครั้ง และเวลากลางคืน 7 ครั้ง
    เพื่อกำหนดการวัดตอนกลางคืน ผู้ป่วยเป็นผู้รายงานเวลาที่ล้มตัวลงนอนและลุกขึ้น  ค่าอื่น ๆ ทั้งหมดจะกำหนดเป็นเวลากลางวัน
    มีการติดตามผลทุกปีผ่านทางโทรศัพท์หรือการมาพบที่สถานพยาบาล โดยการติดตามทั้งหมดมีระยะเวลาตั้งแต่ 2 ถึง 7 ปี คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจล้มเหลว และการเสียชีวิต ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษา
    มีการวิเคราะห์เวลาและการเกิดโรคหัวใจซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต เพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่  ผู้เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้มีเหตุการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 306 ครั้ง ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมอง 119 ครั้ง  การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี 99 ครั้ง และโรคหัวใจวาย 88 ครั้ง
    ระดับความดันที่เพิ่มขึ้นระหว่างนอนหลับ คือ ความดันโลหิตตัวบนที่วัดได้สูงกว่าค่าความดันโลหิตตัวบนเวลากลางวัน 20 mmHg มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดกับโรคหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง
    ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีรูปแบบความดันโลหิตในรอบ 24 ชั่วโมง ผิดปกติ คือ ในเวลาที่นอนหลับความดันโลหิตจะสูงกว่าค่าความดันตอนกลางวัน มีความเสี่ยงโดยเฉพาะต่อการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว และมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
    การลดลงมากเกินไปของความดันโลหิตระหว่างนอนหลับอาจเป็นอันตรายได้ด้วย ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงซึ่งควบคุมได้ดีแสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อความดันโลหิตตัวบนในเวลากลางคืนตกลงอย่างมาก
    “ผลลัพธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความดันโลหิตตัวบนเวลากลางคืนเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่มีนัยสำคัญต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” Dr.Kario กล่าว
    “การศึกษานี้เน้นให้เห็นความสำคัญของการรวมเอาการตรวจสอบความดันโลหิตในเวลากลางคืนไว้ในกลยุทธ์การบริหารจัดการผู้ป่วย และหวังว่าจะช่วยให้แพทย์มั่นใจว่าการรักษาด้วยยารักษาความดันโลหิตสูงจะลดความดันโลหิตลงได้อย่างมีประสิทธิผลตลอดเวลาที่ให้ยา 24 ชั่วโมง
    ผู้เขียนรายงานการศึกษาระบุว่า การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ ได้รับข้อมูลผู้ป่วยนอกครั้งเดียว ณ ตอนเริ่มต้นการศึกษา อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาของความดันโลหิตในผู้ป่วยจนถึงเวลาที่มีการวินิจฉัยโรคหัวใจ