สภาพแวดล้อมจากมารดาระหว่างพัฒนาการของตัวอ่อนเอ็มบริโอมีผลอย่างมากต่อสุขภาพและอายุขัยของชีวิตในภายหลัง โดยมีผลต่ออายุของเซลล์ซึ่งมักจะประเมินด้วยความยาวของเทโลเมียร์ (telomere) ที่อยู่ตรงปลายโครโมโซม และความยาวของเทโลเมียร์เป็นตัวบ่งชี้ “อายุชีวภาพ” (biological age)
แม้ว่าโดยปกติเทโลเมียร์จะสั้นลงตามอายุที่มากขึ้น แต่เทโลเมียร์ที่สั้น ณ อายุใดก็ตาม จะพยากรณ์ถึงความเสี่ยงต่อโรคและอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น เราพบว่าก่อนคลอดทารกต้องสัมผัสกับฮอร์โมนความเครียดของมารดา รวมทั้งความไม่เสถียรระหว่างพัฒนาการของตัวอ่อนเอ็มบริโอ และส่งผลให้เทโลเมียร์สั้น นั่นคือ อายุของเซลล์ถูกเร่งให้ชราลง
การศึกษาครั้งใหม่ที่สนับสนุนโดย Academy of Finland และ Turku Collegium for Science and Medicine ได้จัดสถานการณ์ให้มีการสัมผัสก่อนคลอดกับฮอร์โมนไทรอยด์ของมารดาโดยการฉีดไข่ในนกทดลอง
“ชีวภาพของเทโลเมียร์ในมนุษย์ใกล้เคียงกับชีวภาพของเทโลเมียร์ในนกมากกว่าในสัตว์ทดลองอื่นที่เคยทำมา ทั้งในมนุษย์และนกเราวัดความยาวของเทโลเมียร์ด้วยวิธีที่มีการรุกล้ำน้อยมากจากตัวอย่างเลือดขนาดเล็ก” Antoine Stier นักวิจัยจาก University of Turku (ฟินแลนด์) ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของบทความวิจัย กล่าว
ขณะที่ผู้เขียนรายงานมีเหตุผลที่ช่วยคาดได้ว่าเทโลเมียร์จะสั้นลงในลูกนกที่เกิดจากไข่ซึ่งถูกฉีดฮอร์โมน ไทรอยด์ แต่พวกเขาแปลกใจมากที่พบว่าลูกนกมีเทโลเมียร์ยาวขึ้นหลังจากเกิด
“จากการที่ความยาวของเทโลเมียร์ลดลงตามธรรมชาติซึ่งสังเกตได้ตามอายุในประชากรนกจับแมลงแถบคอขาวกลุ่มเดียวกัน เราคาดว่าลูกนกที่ฟักจากไข่ที่ถูกฉีดฮอร์โมนไทรอยด์จะมีอายุ ณ ตอนเกิดน้อยกว่าลูกนกที่ฟักจากไข่ในกลุ่มควบคุมประมาณ 4 ปี
แม้เรายังไม่ได้ค้นพบกลไกของโมเลกุลภายใต้ผลกระทบดังกล่าว แต่ผลการค้นพบครั้งใหม่นี้แสดงว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ก่อนคลอดอาจมีบทบาทในการกำหนด “อายุชีวภาพ” ณ ตอนเกิด
“เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์และข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการทดลองยีนบำบัดในมนุษย์เพื่อทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นในฐานะที่เป็นการบำบัดเพื่อต้านภาวะชราภาพ ถือว่าการค้นพบนี้ได้เปิดทางที่มีโอกาสเป็นไปได้ในการทำความเข้าใจอิทธิพลของการทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นในสัตว์ทดลอง” Stier กล่าว
ฮอร์โมนไทรอยด์ก่อนคลอดมีผลต่อ ‘อายุชีวภาพ’ ตอนเกิด
University of Turku, ScienceDaiy