ถอดรหัสวิธีเด็ด เคล็ดลดความอ้วน สูตรสำเร็จ จาก ยันฮี

ผ่านพ้นช่วงเวลาปีใหม่มาร่วมเดือน ปณิธาน “ลดความอ้วน” ที่เคยเอ่ยคำมั่นไว้ คืบหน้าถึงไหนแล้ว?   “อะไร? คือสาเหตุ ที่ทำให้เราลดความอ้วนไปไม่ถึงไหนกันแน่นะ”    


 “ปัญหาน้ำหนักตัวเกิน” เรื่องหนักทั้งตัว หนักทั้งใจ สุขภาพกาย/สุขภาพใจ อาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาทิ เผลอจัดเต็มกับการกินในทุกมื้อ หรือต้องปั่นงานกองพะเนินจนลืมออกกำลังกาย ตลอดจนการ “ลดความอ้วนแบบผิดวิธี” เช่น การลดปริมาณอาหาร การงดมื้อเย็น ซึ่งมีข้อเสียมากมายที่ถูกมองข้าม คือเมื่อร่างกายรับปริมาณอาหารแต่ละมื้อไม่เท่ากัน จะส่งผลให้ฮอร์โมนความหิวและความอิ่มเกิดความไม่สมดุลตามมา จนสมองต้องสั่งการให้หาของหวานมาเติมเต็ม ทำให้ระบบเผาผลาญผิดเพี้ยน ร่างกายจึงอ้วนตามกันมา


นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากกลุ่มโรคบางชนิด ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ขวางให้ผู้ป่วยลดความอ้วนยากกว่าคนปกติเท่าตัว ไม่ว่าจะกลุ่มที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ป่วยในกลุ่มโรคบางชนิดที่มีภาวะอ้วนร่วม อย่างไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ไทรอยด์ต่ำจากฮอร์โมน หรือผู้ป่วยหญิงที่มีถุงน้ำในรังไข่จากภาวะรังไข่ตกไม่สมบูรณ์ ก็นับเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวพุ่งสูงโดยที่เราไม่เต็มใจเช่นกัน และทางลัดสู่การมี “รูปร่างและสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน” ที่ดีที่สุดคือการเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุด พร้อมการได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด บทความนี้จะเผยความลับ “การลดความอ้วนแบบองค์รวม” เคล็ดวิชาเด็ดคัมภีร์ดัง โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการลดน้ำหนักจาก โรงพยาบาลยันฮี  


 


“ลดความอ้วนแบบองค์รวม” วิธีการรักษาแบบหมอ “ยันฮี”


            เป็นที่รู้กันว่าถ้าเอ่ยถึงการลดความอ้วน ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีแบบไหน มักต้องเริ่มด้วยการสำรวจค่า BMI หรือ การหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) “สำหรับแพทย์ จุดตั้งต้นของการลดน้ำหนักจะขึ้นกับค่า BMI” แพทย์หญิงกัลยาณี พรโกเมธกุล แพทย์ผู้ชำนาญการ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลยันฮี กล่าว “การรักษาของโรงพยาบาลฯ จะเริ่มขึ้นเมื่อเราประเมินครอบคลุมถึงสาเหตุว่า มีโรคร่วมอะไรบ้าง เป็นเบาหวานไหม รวมถึงเช็คระดับความรุนแรงที่แยกย่อยได้จากค่าดัชนีมวลกาย เมื่อเรารู้ระดับความอ้วนของคนไข้ โปรแกรมจึงจะเริ่มต้นขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล” 


 


            แพทย์หญิงกัลยาณี แนะนำต่อไปอีกว่า “โปรแกรมของการดูแลแบบองค์รวม จะไม่ได้มีแต่แพทย์ดูแลคนไข้แบบ 1:1 เท่านั้น เพราะโปรแกรมนี้จะถูกแจกจ่ายให้ทีมสุขภาพทำงานร่วมกัน โดยมีตัวหลักคือ คุณหมอประจำตัวคนไข้ ต่อด้วยนักโภชนาการ จัดการเรื่อง Food Diary ตารางอาหารการกินที่เหมาะกับคนไข้ ทั้งหัวข้อการคุมอาหารและจำนวนแคลอรี่ ตามด้วยทีมเวชศาสตร์การกีฬาหรือคุณหมอคาร์ดิโอ Fat Burn ให้คำปรึกษาเรื่องการออกกำลังกาย และรวมถึงการดูแลในกรณีคนไข้มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โดยคุณหมออายุรกรรมเฉพาะทาง หรือหากมีประเด็น Psycho-Social (ภาวะทางจิตใจ)เข้ามาเป็นตัวแปร ก็จะมีทีมจิตแพทย์ เข้าร่วมในโปรแกรมการรักษาด้วยเช่นกัน โดยจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้การดูแลแบบองค์รวม ครบ จบ แบบสมบูรณ์คือ 3 วิธีเด็ด เคล็ดวิชาเฉพาะของโรงพยาบาลยันฮี ที่เน้นประสิทธิภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ ดังนี้


วิธีแรก คือการใช้ “ฮอร์โมนควบคุมความหิว” โดยเลียนแบบฮอร์โมนคุมหิว อิ่มนาน : ตัว “ฮอร์โมนควบคุมความหิว” ชื่อทางการคือ ตัวยา “ลิรากลูไทด์” (Liraglutide) สารชนิดนี้คือเปปไทด์โปรตีนที่ออกฤทธิ์ไม่ต่างจาก GLP-1 ฮอร์โมนที่ปล่อยจากลำไส้เล็กมนุษย์ ช่วยส่งสัญญาณให้สมองรับรู้ถึงขีดจำกัดความอิ่ม โดยตัวยา “ลิรากลูไทด์” (Liraglutide) นี้ จะมีลักษณะเป็นแท่งยาฉีดที่มีเข็มอยู่ปลาย ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง และด้านหน้าของต้นขาหรือต้นแขน ซึ่งการใช้งานก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และเจ้าฮอร์โมนนี้จะใช้กับผู้มีภาวะโรคอ้วนที่ BMI มากกว่าเลข 27 ขึ้นไปที่มีโรคร่วม หรือ BMI > 30 โดยการฉีดฮอร์โมนคุมหิว 1 ครั้ง จะอยู่ได้นานราว ๆ 12-24 ชั่วโมง ผลลัพธ์คือ การส่งสัญญาณให้เรารู้สึกอิ่มนาน หิวน้อยลง ลดทานจุกจิก ช่วยลดการผลิตน้ำตาลที่ตับ และไปเพิ่มความไวของอินซูลินบริเวณตับอ่อนและกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันได้ดีขึ้น คุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ฮอร์โมนนี้จะช่วยให้คนไข้เซทปริมาณอาหารทุกมื้อเป็นรูทีน สร้างความคุ้นชินให้สมองรับรู้ถึงปริมาณอาหารที่เพียงพอให้รู้สึกอิ่ม ซึ่งถึงวันหนึ่งที่คนไข้ไม่ใช้ยา สมองกับกระเพาะก็จะเปิดรับปริมาณอาหารน้อยลง ส่งผลในการลดน้ำหนักอย่างมีคุณภาพ”


วิธีที่สอง การลดความจุกระเพาะด้วย “บอลลูน” : บอลลูนกระเพาะอาหาร หรือ Gastric Balloon คือซิลิโคนชนิดที่ใส่ในร่างกาย ใส่เข้าไปได้ด้วยวิธีการส่องกล้องโดยไม่ต้องผ่าตัด ลักษณะเรียบ ไม่ระคายเคืองกระเพาะ ภายในจะใส่น้ำเกลือผสมสารสีฟ้าที่เรียกว่าเมทิลีนบลู (Methylene Blue) จุดประสงค์คือเพื่อลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งข้อดีอีกอย่างของการลดความจุนี้ จะช่วยให้กระเพาะบีบตัวช้าลง ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณอาหารที่ทานเข้าไปได้ในแต่ละมื้อ ค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย เป็นการลดแคลอรี่ที่ได้ต่อวันอย่างได้ผลจริง โดยวิธีนี้จะสงวนไว้กับผู้ป่วยโรคอ้วนที่ค่อนข้างรุนแรง มีตัวเลข BMI เกิน 30 หรือกรณีมี BMI ที่ 27 ที่มีโรคร่วมที่น่าเป็นห่วงอย่างโรคหัวใจ ไขมันในเส้นเลือดและเบาหวาน และแน่นอนเจ้าบอลลูนนี้ปลอดภัยกว่าที่ใครๆ คิด


 “โดยธรรมชาติแล้วกระเพาะอาหารจะมีความจุสูงสุดอยู่ที่ 4 ลิตร การใส่บอลลูนลงไปก็เพื่อลดทอนค่าสูงสุดนี้ลง ซึ่งครั้งแรกน้ำเกลือในบอลลูนจะถูกเติมเริ่มต้นที่ 400 ถึง 500 ซีซี และจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน จนสูงสุดที่ 700 ซีซี รวมใส่เป็นเวลา 1 ปี แต่หากผู้ป่วยพอใจกับน้ำหนักที่ลดลงแล้วก็สามารถนำออกก่อนระยะเวลาได้” แพทย์หญิงกัลยาณี กล่าว


วิธีที่สาม ดูดไขมันไม่มีหย่อนคล้อย ด้วยเทคนิคและนวัตกรรม : ในอดีต การดูดไขมันเป็นวิธีที่หลายคนเบนหน้าหนี ส่วนหนึ่งก็เพราะแม้ไขมันจะถูกดูดออกไป แต่ต้องแลกมากับผิวหนังที่หย่อนคล้อย ไหนจะรอยช้ำเกิดขึ้นตามจุดที่ดูดมากน้อยตามตัว นายแพทย์สมศักดิ์ ชุลีวัฒนะพงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการ ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง  โรงพยาบาลยันฮี อธิบายว่า ปกติการดูดไขมัน กรณีหากผิวหนังมีความยืดหยุ่นดี เมื่อดูดไขมันผิวที่บางลงจะมีการหดตัว ทำให้กระชับขึ้นอยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่มีภาวะหย่อนคล้อยร่วมด้วยไม่มากก็สามารถใช้การดูดไขมันและใช้คลื่นวิทยุเข้าไปกระตุ้นให้ผิวหนังมีการหดตัวมากขึ้น ซึ่งทางยันฮีก็ยังใช้อยู่ คือการดูดไขมันด้วยเครื่อง Vaser โดยลักษณะการใช้คลื่นวิทยุเข้าไปทำให้เซลล์ไขมันแตกตัว และกระตุ้นผิวหนัง ซึ่งมีคอลลาเจนหดตัว แล้วดูดไขมันซึ่งสลายเป็นน้ำออกมา ประโยชน์อีกอย่างคือ บริเวณที่ดูดไขมันจะไม่ค่อยช้ำและเสียเลือดน้อยลง


แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่มีผิวหนังหย่อนมาก ซึ่งมักเป็นคนไข้ที่ผ่านการลดน้ำหนัก และ/หรือคนไข้ที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว ซึ่งผิวหนังจะมีการหย่อนคล้อยมากขึ้น ก็มีนวัตกรรมใหม่ของทาง รพ.ยันฮี เรียกว่า J-Plasma ซึ่งสามารถทำให้ผิวหนังหลังจากการดูดไขมันมีการหดตัวและกระชับมากขึ้น โดยการใช้คลื่นพลาสมาร่วมกับแก๊สยิงใต้ผิวหนัง ผลคือนอกจากการกระชับแล้วทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังดีขึ้นด้วย แต่สุดท้ายแล้วหากผิวหนังหย่อนคล้อยมาก การผ่าตัดผิวหนังส่วนเกินร่วมกับการดูดไขมัน และการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Laser ชนิดต่าง ๆเข้ามาช่วยเพื่อให้รูปร่างกระชับขึ้นก็จะเป็นสิ่งจำเป็น โดยคำนึงถึงผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด 


ถ้าพูดถึงการลดความอ้วน แน่นอนว่ามักจะสื่อชัดเจนถึงการปรับรูปร่าง ทว่าในวันนี้รูปร่างอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การลดความอ้วนจึงแปลได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ลดภาวะอ้วนให้ตัวเลข BMI กลับสู่เกณฑ์ปกติ” เพราะสำหรับโรงพยาบาลยันฮีแล้ว เป้าหมายที่แท้จริงของการ “ลดความอ้วนแบบองค์รวม” ก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุข สุขภาพที่ดีแบบนั่งยืน ไร้โรคแทรกซ้อน