ปลัด สธ. ให้พื้นที่เสี่ยงสูง 4 เขตสุขภาพ กทม. และปริมณฑล เร่งจัดทำห้องปลอดฝุ่นดูแลกลุ่มเปราะบาง

www.medi.co.th

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เดือนมกราคม 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐานจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง สื่อสารให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดูแลกลุ่มเปราะบางรวมถึงคนทำงาน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8, กทม. และปริมณฑล ให้เตรียมพร้อมหน้ากากอนามัย เร่งจัดทำห้องปลอดฝุ่นทุกโรงพยาบาล รายงานผู้ป่วยที่มีอาการเกิดจากการสัมผัสฝุ่น เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง พร้อมทั้งสนับสนุน อปท. ร่วมดูแลประชาชน


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ และเปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ช่วงวันที่ 21-29 ธันวาคม 2566 จะสะสมเพิ่มขึ้นในระดับเกินมาตรฐานในบางพื้นที่ ส่วนในเดือนมกราคม 2567 มีแนวโน้มสะสมเพิ่มขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงปลายเดือนมกราคม ภาคเหนือจะเริ่มมีแนวโน้มเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตลอดทั้งเดือน ทำให้อุณหภูมิลดลงต่ำสุด

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้มีข้อสั่งการเพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ได้แก่ 1.เฝ้าระวัง คาดการณ์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ พร้อมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลป้องกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 2.เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุข/ระบบส่งต่อ โดยใช้กลไก 3 หมอ และระบบเทเลเมดิซีน ดูแลกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบโรคผิวหนัง และคนทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่น คนตัดอ้อย เผาอ้อย เป็นต้น 3.เตรียมความพร้อมทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ หน้ากากอนามัย ห้องปลอดฝุ่น โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงสูงของเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 และ 8 รวมถึง กทม. และปริมณฑล ให้เร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567


3.ให้สถานพยาบาลแจ้งและรายงานผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าเป็นโรคหรือมีอาการเกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 4.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในทุกระดับ และยกระดับการปฏิบัติการเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้เปิด PHEOC แล้ว 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก นนทบุรี สิงห์บุรี และสมุทรสาคร 5.ให้ PHEOC รายงานสถานการณ์ทุกวัน และ 6.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดูแลประชาชนจากปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่