มะเร็งปอด: วินิจฉัยรักษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

รศ.พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา

แม้ว่าโรคมะเร็งปอดจะเป็นโรคที่พบได้มากอยู่ใน 3 อันดับแรกของประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง  แต่เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นระยะแพร่กระจาย มีวิธีการรักษาที่ก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบันยังสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังที่ รศ.พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวว่า “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด” และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายประการเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด ที่สำคัญ คือ ความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาในปัจจุบันเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดใช้ชีวิตได้ปกติด้วยสุขภาวะที่ดีขึ้น ซึ่ง เมดิคอลไทม์ ขอนำมาเสนอ ดังนี้
ชนิดของโรคมะเร็งปอด
    โรคมะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 ชนิด ตามขนาดของเซลล์ ได้แก่
    มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% ส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลักษณะของโรคค่อนข้างรุนแรง (ดุ) แต่ตอบสนองได้ดีมากต่อยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีหรือการฉายแสง โดยการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กในปัจจุบันจะใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การฉายแสง และยากระตุ้นภูมิต้านทานก็มีบทบาทในการรักษามะเร็งชนิดนี้ด้วยเช่นกัน
    มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 85-90% จะเป็นชนิดเซลล์ไม่เล็ก ซึ่งโรคมะเร็งกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นอีกหลายชนิด ได้แก่ adenocarcinoma,  squamous cell carcinoma และชนิดอื่น ๆ  
    มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กนี้ ส่วนใหญ่จะเป็น adenocarcinoma มักจะพบในคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นมา ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเอง (somatic mutation) ไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือการถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร  ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่เรียกว่า ยามุ่งเป้า (targeted therapy) หรือยาต้านเฉพาะจุด สำหรับจัดการกับเซลล์มะเร็งปอดชนิดที่มียีนกลายพันธุ์เหล่านี้เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และพบว่ามีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก นอกจากนี้ ในมะเร็งชนิด adenocarcinoma ยังมีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาเคมีบำบัด ยากระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นต้น     
    ส่วนโรคมะเร็งปอดชนิด squamous cell carcinoma มักเกิดในคนที่สูบบุหรี่ แต่เป็นคนละชนิดกับมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก ปัจจุบันมีทั้งยาเคมีบำบัดและยากระตุ้นภูมิต้านทานที่นำมาใช้ร่วมได้
    เนื่องจากมะเร็งปอดมีหลายชนิด วิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเซลล์มะเร็ง
ลักษณะและอาการ
    มะเร็งปอดเป็นโรคที่กระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ อาการของโรคจึงขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งไปอยู่ที่ตำแหน่งไหน ตัวอย่างเช่น กรณีเป็นก้อนมะเร็งที่ปอด เนื่องจากปอดมีขนาดใหญ่มาก ถ้าก้อนมะเร็งอยู่บริเวณขอบ ๆ ของปอดไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับหลอดลม ผู้ป่วยแทบจะไม่ปรากฏอาการเลย  แต่ถ้าก้อนมะเร็งอยู่ใกล้กับหลอดลม บางครั้งจะมีอาการเหนื่อย ไอ หรือถ้าอยู่ใกล้เส้นเลือดและหลอดลม จะมีอาการไอเป็นเลือดได้ แต่ถ้าพบเซลล์มะเร็งในสมอง  จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือถ้าเซลล์มะเร็งไปอยู่ในกระดูก จะมีอาการปวดมากอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน มีอาการปวดมากตอนกลางคืนจนต้องตื่นขึ้น หรือถ้าอยู่ที่นัยน์ตา อาจจะมีอาการตามัว นอกจากนั้น ยังพบได้ที่กล้ามเนื้อซึ่งสามารถคลำก้อนมะเร็งได้ หรือในตับก็สามารถคลำก้อนได้ที่ท้องด้านขวา หรือต่อมหมวกไตอาจทำให้มีอาการผิดปกติของฮอร์โมนบางอย่าง เป็นต้น เซลล์มะเร็งเหล่านี้เป็นชนิดเดียวกับมะเร็งปอดซึ่งมีการแพร่กระจายออกไป
ระยะของมะเร็งปอด  
    - ระยะที่ 1 พบเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ปอด
    - ระยะที่ 2 มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด เมื่อผ่าตัดออกมาจะพบเซลล์มะเร็ง  
    - ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองตรงช่องอกหรือคลำต่อมน้ำเหลืองได้บริเวณไหปลาร้า แต่ก้อนมะเร็งยังอยู่ในปอด
    - ระยะที่ 4 นอกจากในปอดแล้ว เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ๆ โดยไปตามกระแสเลือดและท่อน้ำเหลือง      
    โดยทั่วไปประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยคนไทย มักจะมาพบแพทย์ด้วยโรคมะเร็งระยะ 3 – 4 และส่วนใหญ่เป็นระยะที่ 4

สัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยง
    สำหรับสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปอด ขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งอยู่ที่อวัยวะใดหรือไปเบียดอวัยวะไหนแล้วเกิดอาการ แต่บางครั้งอาจไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน  เนื่องจากก้อนมะเร็งไม่ได้อยู่ในจุดที่กดหรือเบียดให้เกิดอาการ  แต่เมื่อไรที่ไปกดหรือเบียดให้เกิดอาการ เราถึงตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง
    ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดมีหลายปัจจัย  ที่ทราบแน่นอน คือ การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับโรคมะเร็งชนิดเซลล์เล็กและชนิด squamous cell carcinoma และไม่ใช่จะส่งผลเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้น คนใกล้ตัวที่รับควันบุหรี่ไปนาน ๆ หรือสัมผัสสารจากบุหรี่ซึ่งติดตามที่ต่าง ๆ มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดเช่นเดียวกัน  ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน  สารพิษและมลภาวะจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยทั่วไปการเกิดโรคมะเร็งปอดจะมาจากหลาย ๆ เหตุปัจจัยร่วมกัน  
การตรวจคัดกรอง
    การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มแรก ช่วยให้รักษาได้รวดเร็วและจะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ มีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง (screening) โรคมะเร็งปอด ซึ่งปัจจุบันพบว่าการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan หรือ CT scan) ด้วย low dose CT หรือรังสีที่ต่ำลงเป็นการคัดครองที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดโดยรวมได้ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัดมากเท่านั้น (heavy smoker)  ขณะที่ประชากรทั่วไปในกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะตรวจด้วยการเอกซเรย์ปอด 2 มิติ การตรวจเสมหะ หรือการทำ
CT scan ธรรมดา อาจจะไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของโรคมะเร็งปอด
    การตรวจเมื่อพบว่ามีก้อนในปอด จะมีการใช้กล้องส่องตรวจ แพทย์จะใช้กล้องส่องตำแหน่งที่มีก้อนมะเร็งและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ เช่น กรณีมีก้อนมะเร็งอยู่ใกล้กับหลอดลม จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดช่วยส่องกล้อง หรือการตรวจชิ้นเนื้อโดยแพทย์ทางรังสี เช่น ถ้าก้อนมะเร็งอยู่ชิดผนังช่องอก จะใช้เข็มเจาะเข้าไปได้โดยไม่ต้องส่องกล้อง

    สำหรับการตรวจยีน จะต้องตรวจชิ้นเนื้อ โดยพยาธิแพทย์จะดูว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ และเป็นมะเร็งปอดชนิดไหน ในบางครั้งหากไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จะใช้การย้อมสี และถ้าพบว่าเป็นชนิด adenocarcinoma จะนำชิ้นเนื้อไปสกัด DNA เพื่อตรวจยีนกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ เช่น Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) mutation, Anaplastic Lymphoma Kinase (ALK) fusion gene, ROS1 fusion และ BRAF mutation เป็นต้น ปัจจุบันมีการตรวจ PD-1 Ligand (PD-L1) ด้วย เพื่อจะดูว่าสามารถใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา
วิธีรักษาและนวัตกรรมการรักษา
    ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งปอดมีหลายวิธี  และแบ่งตามระยะของโรคได้ ดังนี้
    ระยะที่ 1 (และ 2) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดแล้ว แพทย์โรคมะเร็งจะตรวจชิ้นเนื้อดูว่า หากมีปัจจัยเสี่ยงสูง จะให้ผู้ป่วยรับการรักษาเสริม ได้แก่ ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีหลังการผ่าตัด หรือให้การรักษาทั้ง 2 อย่าง เป็นต้น 

    ระยะที่ 3  เซลล์มะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองตรงกลางช่องอก จะอาศัยการรักษาร่วมกันหลายวิธี ผู้ป่วยบางรายอาจจะได้รับทั้งเคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมกัน และบางรายมีการผ่าตัดร่วมด้วย สำหรับยาที่นำมาใช้ในระยะนี้ ในปัจจุบันมีทั้งยาเคมีบำบัดและยากระตุ้นภูมิบำบัดที่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการฉายแสงร่วมกับยาเคมีบำบัดแล้ว
    ระยะที่ 4  การรักษาหลักในระยะนี้ ได้แก่ การบรรเทาอาการ โรคมะเร็งระยะนี้จะไม่หายขาด แต่สามารถบรรเทาอาการ และยืดอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้  ปัจจุบันมียารักษาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด ยากระตุ้นภูมิต้านทาน ทั้งแบบใช้เดี่ยวหรือใช้ผสมผสานร่วมกัน และสามารถใช้ยาต้านเฉพาะจุดได้สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ของยีนหรือมีการสลับที่ของยีนที่พบบ่อย ได้แก่ EGFR mutation,  ALK fusion, ROS1 fusion และ BRAF mutation  ตัวอย่าง ถ้าผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ชนิด EGFR mutation ซึ่งตอบสนองต่อยา เช่น เป็น EGFR exon19 ที่มี deletion หรือยีนกลายพันธุ์ชนิด EGFR L858R ที่ exon 21 สองชนิดนี้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามุ่งเป้าหรือยาต้าน EGFR ได้ดี  และระยะนี้หากผู้ป่วยมีอาการที่อวัยวะใด เช่น มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกและผู้ป่วยปวดมาก จะฉายรังสีเฉพาะจุดเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เป็นต้น
    สำหรับยากระตุ้นภูมิต้านทาน หรือเรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันมีการนำยาชนิดนี้มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอดมากขึ้น โดยจะต้องมีการย้อมสีก่อนเพื่อดูว่า PD-L1 มากกว่าหรือเท่ากับ 1% และผู้ป่วยไม่ได้มีโรคตับอักเสบหรือภูมิแพ้ตัวเอง หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันใด ๆ สามารถให้เป็นยารักษาชนิดเดียวได้ แต่ประโยชน์จะมากขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมี PD-L1 มากกว่าหรือเท่ากับ 50% ส่วนในการรักษาโดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด สามารถให้ได้ทั้งผู้ป่วยที่มี PD-L1 หรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างที่แพทย์ที่รักษาต้องพิจารณาประกอบกันหลายปัจจัย  ทั้งในเรื่องสภาวะร่างกาย สภาวะของตัวโรค ผลข้างเคียงจากการรักษาต่าง ๆ เป็นต้น   

แนวการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยและคนใกล้ชิด
    ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ อย่างถูกสัดส่วนสมดุลกัน ทั้งนี้ ไม่มีการศึกษาใดในโลกที่บอกว่า การรับประทานเนื้อสัตว์ แป้งและน้ำตาล ทำให้เป็นโรคมะเร็งมากขึ้น  นอกจากนั้น ควรดื่มน้ำให้มาก รวมทั้งออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หยุดสูบบุหรี่ เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพร้อมสำหรับรับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ   ในขณะเดียวกันคนใกล้ชิดที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยจะต้องทราบและเข้าใจถึงเรื่องของการรักษา ความเป็นไปของตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อจะช่วยประคับประคอง ให้กำลังใจ ดูแล และทำให้ผู้ป่วยคลายความเครียดลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยสนับสนุนการรักษา  
    ทุกวันนี้วิวัฒนาการในการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งปอดเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มียารักษาโรคมะเร็งปอดหลายชนิด ทั้งยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ยากระตุ้นภูมิต้านทาน  ผู้ป่วยจึงมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น  ในยุค 2020 นี้โรคมะเร็งปอดจึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด “อย่าไปกลัว ขอให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์โรคมะเร็งให้เร็ว เพื่อขอคำปรึกษา และจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง” เพื่อโอกาสสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี