สังคมไทยยุคปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้นอัตราการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุชาวไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าประเทศในแถบตะวันตก เนื่องจากการใช้งานในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่าไหว้พระ
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) จะค่อยๆเป็นทีละน้อย โดยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเวลาใช้งานข้อเข่า บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว มีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาใช้งานนานๆ และเมื่อเป็นมากจนกระดูกผิวข้อสึกจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และอาจพบว่าข้อเข่าผิดรูปได้
ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด
1. อาชีพหรือลักษณะงานที่ต้องเดินหรือยืนนานๆ เมื่อผู้ป่วยใช้งานข้อเข่ามากกว่าปกติเป็นระยะเวลานานจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดและทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่าได้เร็วขึ้น
2. การเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เมื่อลุกออกจากเก้าอี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ทันที ต้องใช้เวลาเตรียมตัวสักครู่ถึงจะก้าวเดินได้ ส่วนในรายที่ข้อเข่าเสื่อมมากอาจทำให้เดินไม่ไหว
3. การนั่งยองหรือการคุกเข่า จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และถ้าผู้ป่วยข้อเสื่อมมากมักจะนั่งยองหรือคุกเข่าไม่ได้เลย เพราะพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าถูกจำกัด ทำให้งอเข่าได้ไม่สุดหรือเหยียดเข่าไม่ได้
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนในข้อเข่าทำให้กระดูกข้อเข่าชิดกันเกินไป โดยสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อน(Articular cartilage) ที่คลุมผิวข้อนิ่มกว่าปกติ หรือ ผิวข้อแตกเป็นร่อง และอาจมีกระดูกงอกบริเวณขอบกระดูก ทำให้ความสามารถในการยืดหยุ่นและการควบคุมปลายประสาทเสียไป หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆที่นำไปสู่การเกิดข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย ได้แก่
1. อายุและเพศ โดยผู้ที่สูงอายุจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว และผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะมีความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าเพศชาย
2. การใช้ข้อผิดวิธี เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆการออกกำลังกายผิดวิธี การขึ้นลงบันไดมากเกิน การนั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิเป็นประจำส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น
3. การได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อต่อ กระดูกหัก ข้อเคลื่อนหลุดหรือการบาดเจ็บที่มีผลต่อผิวกระดูกอ่อนซ้ำๆ
4. การอักเสบของข้อเป็นระยะเวลานานและรุนแรง เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ ทำให้เกิดการอักเสบในข้อ และทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ
5. น้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับข้อเข่าเสื่อม โดยพบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม และเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูก ส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
แนวทางการรักษาทางแผนปัจจุบัน
แนวทางการรักษาทางแผนปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายในการรักษา คือ ลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น และแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความเหมาะสม โดยมีวิธีการดังนี้
1. การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่ มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิต ประจำวัน โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีการงอเข่ามากเกินไป เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า เป็นต้น
2. การทำกายภาพบำบัดและการบริหารกล้ามเนื้อ อาจใช้ผ้าช่วยรัดเข่า หรือใช้เฝือกอ่อนพยุงเข่าแต่ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อลีบได้
3. การใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย และความดันโลหิตสูง
4. การใช้ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ ยาชะลอความเสื่อมของข้อ และการฉีดน้ำไขข้อเทียม อาจช่วยให้อาการปวดดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง
5. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในข้อเข่าหรือเจาะข้อเพื่อดูด น้ำไขข้อออกจะทำให้อาการปวดดีขึ้นทันที แต่ก็จะกลับมา เป็นอีกและมีผลข้างเคียงคือกระดูกอ่อนผิวข้อบางลงทำให้ ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
6. การผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดการโก่งของเข่า หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งถือเป็นทางเลือกสุดท้ายจะใช้ในผู้ที่มีอาการมากและรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
การบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยพบว่ามีความใกล้เคียงกับ “โรคลมจับโปงแห้งเข่า” ซึ่งนิยามของโรคลมจับโปงแห้งเข่า คือ โรคที่มีอาการปวดบวมแดง ซึ่งอาจจะพบเพียงเล็กน้อย มีสภาวะข้อเข่าผิดรูปเข่าโก่ง งอเข่าไม่ได้องศา มีเสียงกรอบแกรบในเข่าขณะเดิน อาจปวดมากเวลาเปลี่ยนอิริยาบถหรือขึ้นลงบันได
สาเหตุของโรคเกิดจากความเสื่อมของข้อเข่าตามวัย ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่า(ลสิกา) แห้งไปและมีมูลเหตุการเกิดโรค ได้แก่ การใช้งานหนักเกินกำลัง การอยู่ในอิริยาบถที่ผิด เช่น การนั่งคุกเข่าเป็นเวลานาน การไม่ควบคุมน้ำหนัก และการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น หน่อไม้ เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหมักดอง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการข้ออักเสบ
ภูมิปัญญาดั้งเดิมเกี่ยวกับตำรับยาที่ใช้รักษาโรคลมจับโปงแห้งเข่า มีบันทึก ไว้ในตำราโอสถพระนารายณ์ กล่าวถึง “ตำรับยาทาพระเส้น” ซึ่งเป็นตำรับยาขนานที่ 58 ของตำราโอสถพระนารายณ์ มีสรรพคุณ แก้เส้นที่ผิดปกติ แก้ลมอัมพาต แก้ลมปัตคาด แก้ตะคริว แก้ลมจับโปง แก้เมื่อยขบ มีตัวยาทั้งสิ้น 13 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพริกไทย กระชาย ข่า ว่านหอมแดง กระเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขามใบเลี่ยน และใบมะคำไก่
วิธีการพอกยา
วิธีการพอกยา ทำได้ดังนี้
1. เตรียมสมุนไพรแห้ง ได้แก่ เมล็ดพริกไทย กระชาย ข่า ว่านหอมแดง กระเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ สิ่งละ 15 กรัม ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขาม ใบเลี่ยน สิ่งละ 60 กรัม และใบมะคำไก่ 240 กรัม
2. นำสมุนไพรแห้งทั้งหมดมาใส่โหลแล้วเทเหล้าโรง (เหล้า 40 ดีกรี) ให้ท่วมตัวยา จากนั้นหมักทิ้งไว้ อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนที่จะนำมาใช้
3. เมื่อจะนำมาใช้ให้รินแต่น้ำยาที่หมักไว้ใส่สำลีแผ่นแล้วนำมาพอกให้รอบบริเวณข้อเข่าที่มีอาการปวดเข่า เข่าบวม ระยะเวลาที่ใช้ในการพอกประมาณ 15 – 20 นาที หลังจากนั้นก็นำแผ่นสำลีออก ควรพอกเข่าวันละ 1 – 2 ครั้ง เช้า เย็น เพื่อให้อาการทุเลาลง
ข้อสังเกตสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบใน “ตำรับยาทาพระเส้น” จะมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ เช่น พริกไทยมีสาร piperine ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด กระเทียมมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ สามารถยับยั้งเอนไซม์ ที่กระตุ้นการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ยาดำมีสาร aloenin, สาร barbaloin และ สาร isobarbaloin ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ จึงสรุปได้ว่าตำรับยาทาพระเส้นมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดเข่า ลดการอักเสบ ทำให้องศาการเคลื่อนไหวข้อเข่าดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสมุนไพรในตำรับที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบและแก้ปวด
แนวคิดทางการแพทย์แผนไทย
แนวคิดทางการแพทย์แผนไทย ตำรับยาทาพระเส้นมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรรสร้อน จึงมีสรรพคุณในการช่วยขับลม กระจายลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อต่างๆ ซึ่งอาการปวดข้อเข่าในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เกิดจากเลือดและลมไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้มีการคั่งอั้นของลมส่งผลให้เกิดอาการปวด เมื่อเราใช้สมุนไพรรสร้อนจึงช่วยกระจายลมไม่ให้เกิดการคั่งอั้นที่ข้อเข่า ทำให้อาการปวดลดลง อาการข้อฝืดลดลง จึงสามารถเหยียดและงอข้อเข่าได้ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท และคณะ. หนังสือคู่มือให้ความรู้ภาควิชาออร์โธปิดิกส์. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นข้อมูลเมื่อ เมษายน 1,2563, เข้าถึงได้จาก https://med.mahidol.ac.th/ortho/sites/default/files/public/file/pdf/knee_book_0.pdf
2. รศ.นพ.วัฒนชัย โรนจวณิชย์. โรคข้อเสื่อม. บทความเผยแพร่ความรู้ภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นข้อมูลเมื่อ เมษายน 1,2563, เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/159_1.pdf
3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.(2556).พจนานุกรมศัพท์แพทย์และ เภสัชกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน(พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพฯ:สำนักกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
4. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. (2559). แนวทางการตรวจและรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมด้วยการแพทย์แผนไทย.กรุงเทพ, บริษัทสามเจริญพาณิช (กรุงเทพ) จำกัด.
5. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และวิเชียร จีรวงส์. (2558). คำอธิบายตำราพระโอสถ พระนารายณ์ (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง