ภาวะไขมันเกาะตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นชื่อเรียกรวมของความผิดปกติที่เกิดกับตับ โดยเริ่มจากไขมันพอกตับ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันโรคไขมันเกาะตับเป็นโรคตับเรื้อรังที่พบบ่อยสุด ประเทศไทยพบภาวะไขมันเกาะตับได้มากขึ้นตามแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของภาวะอ้วนลงพุง ความชุกของภาวะไขมันเกาะตับในเด็กปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมร้อยละ 2.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 5 ในเด็กที่น้ำหนักปกติ แต่ความชุกในเด็กอ้วนจะเป็นร้อยละ 38 และเพิ่มเป็นร้อยละ 48 ในเด็กอ้วนที่เป็นโรคเบาหวาน
ทำไมถึงเกิดภาวะไขมันเกาะตับ
การรับประทานอาหารที่มากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย ทำให้ไขมันส่วนเกินสะสมตามส่วนต่าง ๆ ในอวัยวะภายใน ซึ่งอวัยวะสำคัญที่เก็บสะสม คือ ตับ แต่ยังสะสมที่อื่นด้วย เช่น หลอดเลือด อวัยวะภายในอื่น ๆ ตับอ่อน เยื่อบุหัวใจ เป็นต้น โดยอาการผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันเกาะตับกว่าร้อยละ 50 ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไขมันเกาะตับระยะแรก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันเกาะตับ ได้แก่ คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ มีภาวะไขมันเกาะตับถึงร้อยละ 90 ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 มีอาการตับอักเสบร่วมด้วย และร้อยละ 10 กลายเป็นโรคตับแข็ง
ผลที่ตามมาของโรคไขมันเกาะตับ
1. โรคร่วมในผู้ที่มีภาวะไขมันเกาะตับ ภาวะไขมันเกาะตับพบร่วมกับกลุ่มอาการอ้วนลงพุง สัมพันธ์กับ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และไขมันที่ดี (HDL-C) ในเลือดต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
2. ผลต่อตับ การดำเนินของโรคตับในกลุ่มที่มีการอักเสบและพังผืดเป็นเวลานานจะนำไปสู่โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ จะเห็นได้ว่าความผิดปกติและพัฒนาการของโรคเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคตับกลุ่มที่ดื่มสุราเป็นประจำ
การวินิจฉัยภาวะไขมันเกาะตับ
ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันเกาะตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ โดยมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ หรือพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ หรือจากทำอัลตราซาวนด์ จากข้อบ่งชี้อื่น ๆ โดยการตรวจเลือดวัดการทำงานของตับอาจเป็นปกติ หรือมีค่าเอนไซม์ตับส่วนมากจะมีค่าสูงกว่าปกติไม่มากนัก (2-5 เท่า ของค่าปกติ) การตรวจร่างกายอาจพบ ตับโต และอ้วนลงพุง มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกระหว่างภาวะไขมันเกาะตับชนิดธรรมดา (simple steatosis) และภาวะไขมันเกาะตับที่มีการอักเสบ (non-alcoholic steatohepatitis (NASH)) ออกจากกัน เนื่องจาก 2 ภาวะนี้มีการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน คือ ผู้ที่มีภาวะไขมันเกาะตับชนิดธรรมดา จะมีไขมันสะสมในตับ โดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบ หรืออาจมีการอักเสบเล็กน้อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าประชากรทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนลงพุง (เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง) ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับนั้นไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป ในขณะที่ผู้ป่วยภาวะไขมันเกาะตับที่มีการอักเสบจะมีไขมันสะสมในตับร่วมกับการอักเสบที่รุนแรง จนส่งผลให้เกิดพังผืดขึ้น ซึ่งในที่สุดสามารถกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ถึงร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วย การตรวจอื่น ๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค ได้แก่ การตรวจทางรังสี รวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อตับ
การรักษา
แม้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับจะมีการดำเนินโรคค่อนข้างช้า แต่การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการให้การรักษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย เป้าหมายของการรักษาอยู่ที่การลดไขมันสะสมในตับและลดการอักเสบของตับในรายที่มีการอักเสบร่วมด้วย เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรคต่อไป
การลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันเกาะตับสามารถฟื้นฟูสภาพตับให้กลับมาดีขึ้นได้ด้วยการลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 7 (แต่คำแนะนำของสมาคมทางเดินอาหารของอเมริกาแนะนำให้ลดร้อยละ 10)
การออกกำลังกาย แม้ว่าน้ำหนักตัวไม่ลดลงแต่ให้ผลดีต่อตับ ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันเกาะตับควรลดอาหารหวาน อาหารมัน ลดการรับประทานแป้ง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ ไขมันในตับก็จะลดลงได้ ร่วมกับการรักษาโรคร่วมที่มี เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การใช้ยาลดน้ำตาลบางชนิดรวมถึง วิตามิน อี อาจจะมีประโยชน์ นอกจากนี้ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วนมากสามารถทำให้ภาวะไขมันเกาะตับดีขึ้น
ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันเกาะตับควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมประเภทน้ำมันต่าง ๆ เช่น น้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส และสมุนไพรต่าง ๆ และควรได้รับการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ หากไม่มีควรได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงการตรวจติดตามค่าเอนไซม์ตับเป็นระยะ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล :
https://www.thaihealth.or.th/Content/56061